นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม Kick-off "ปตท. จุดพลังชีวิต พลิกผืนป่า" 1 ต้นกล้า สู่ป่าล้านที่ 2 โดยมุ่งหวังในการฟื้นฟูระบบนิเวศ เพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กลยุทธ์หลักที่ขับเคลื่อน ปตท. สู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)
ทั้งนี้ ปตท. ตั้งเป้าหมายปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ และความร่วมมือจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ.2030) และเมื่อรวมกับพื้นที่แปลงปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ คาดว่าพื้นที่แปลงปลูกป่าของกลุ่ม ปตท. กว่า 3 ล้านไร่ จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ประมาณ 20% ของปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ ปตท. ซึ่งจะมีศักยภาพในการดูดซับมากกว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นอกจากนี้ ผืนป่าที่ฟื้นฟูกลับมาจะทำหน้าที่ให้บริการทางนิเวศ (Ecosystem service) ทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำ ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงช่วยสร้างทุนทางสังคมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนคิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาทต่อปี
สำหรับการปลูกป่าในโครงการดังกล่าว จัดขึ้นที่แปลงปลูกป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังเพลิง ป่าม่วงค่อมและป่าลำนารายณ์ ได้รับการจัดสรรพื้นที่จากกรมป่าไม้จำนวน 413 ไร่ ในความรับผิดชอบของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี โดยในปีนี้ ปตท. กำหนดเป้าหมายพื้นที่ปลูกป่ารวม 86,173 ไร่ทั่วประเทศ ควบคู่กับการนำแปลงปลูกขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER ที่จะยกระดับการปลูกฟื้นฟูป่าให้มีมาตรฐานเป็นไปตามหลักวิชาการ
อย่างไรก็ดี ปตท. ได้จัดเตรียมพรรณไม้พื้นถิ่นจำนวน 25 ชนิด อาทิ ประดู่ป่า พะยอม แดง มะค่าแต้ และตะแบก นำมาปลูกเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว อีกทั้งรูปแบบการจัดงานยังเป็น Carbon Neutral Event ที่คำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกๆ กิจกรรม เน้นใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้
โดย ปตท. ได้รวบรวมข้อมูลและคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมทั้งหมด และจะนำคาร์บอนเครดิตของ ปตท. มาชดเชยเป็นจำนวน 45 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งนอกจากกิจกรรมปลูกฟื้นฟูป่าแล้ว ยังมีการทำฝายชะลอน้ำ เพื่อชะลอน้ำในฤดูฝนให้คงอยู่ในพื้นที่ให้นานขึ้น รวมทั้งช่วยกระจายความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ปลูกป่า และเป็นประโยชน์ต่อกล้าไม้ที่ปลูกใหม่อีกด้วย
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 45 ปีที่ผ่านมา ปตท. ยึดมั่นพันธกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเส้นทางการปลูกป่าของ ปตท. เริ่มต้นใน พ.ศ. 2537 เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้รัฐบาลหาแนวทางทางยับยั้งการตัดไม้ทำลายป่า
และฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมเป็นการเร่งด่วน ด้วยมีพระราชดำรัส “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” ที่แสดงถึงพระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะทรงงานด้านการอนุรักษ์ป่า เนื่องจากทรงเห็นว่าป่าไม้ในประเทศไทยถูกทำลายลงไปมาก ปตท. หรือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในขณะนั้น จึงรับอาสาปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) จำนวน 1 ล้านไร่ จนบรรลุเป้าหมายเมื่อ พ.ศ. 2545 รวมพื้นที่แปลงปลูกกว่า 1,043,230 ไร่ ใน 419 แปลงครอบคลุม 48 จังหวัดทั่วประเทศ
“ปตท. พร้อมสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ด้วยตระหนักเป็นอย่างดีถึงความเร่งด่วนของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมุ่งพัฒนาธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ"