บริษัทแฟชั่นเร่งรับมือกฎเหล็กอียู มีผลปี 68 มุ่งเป้าลดขยะเสื้อผ้าท่วมโลก

04 ก.ย. 2566 | 21:59 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2566 | 22:25 น.

บริษัทเแฟชั่น-ผู้ผลิตเสื้อผ้าในยุโรปอย่างเช่น Zara และ H&M กำลังเตรียมตัวรับมือกฎใหม่ของสหภาพยุโรป (อียู) ว่าด้วยเรื่องการบริหารจัดการขยะที่เป็น “เสื้อผ้าไม่ใช้เเล้ว” ที่กำลังสร้างปัญหาขยะ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568

 

ร่างกฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรป (อียู) เสนอว่าประเทศสมาชิกจะต้องแยก ขยะสิ่งทอ ออกจากขยะประเภทอื่นๆ ภายในเดือนมกราคม 2568 นอกจากนี้ ยังเสนอกฎให้ บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้า จ่ายเงินช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายสำหรับงานเกี่ยวกับ การคัดแยกเสื้อผ้าใช้เเล้ว เพื่อ นำกลับมาใช้ใหม่ และ การเอาวัตถุดิบไปรีไซเคิล

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กฎที่ถูกเสนอในเวลานี้ ต้องการให้บริษัทเสื้อผ้าสำเร็จรูปจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้กับอียูเป็นเงิน 0.12 ยูโรต่อเสื้อผ้าหนึ่งชิ้นที่ขายได้ หากว่าสินค้าเป็นวัตถุดิบที่ยากต่อการรีไซเคิล ค่าธรรมเนียมก็จะสูงขึ้น

ต่อไปประเทศกลุ่มอียูจะมีสมาคมบริหารจัดการขยะเสื้อผ้าในเเต่ละประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเเล้วในฝรั่งเศสและสเปน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งแฟชั่น

ขยะเสื้อผ้าใช้แล้วล้นโลก

ที่ประเทศสเปน ได้เกิดองค์กรไม่เเสวงหาผลกำไรสำหรับภารกิจดังกล่าวที่ชื่อว่า โมดา รี (Moda Re) องค์กรนี้ได้รับความสนับสนุนทางการเงินบางส่วนจาก บริษัท อินดิเท็กซ์ (Inditex) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเชนร้านเสื้อผ้าแฟชั่น Zara นั่นเอง

โมดา รี ตั้งเป้าว่าภายในหนึ่งปีนับจากนี้ จะคัดแยกเสื้อผ้าใช้เเล้วเพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่และการเอาวัตถุดิบไปรีไซเคิล ให้ได้ 40,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็น 2 เท่าของปริมาณที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

นายอัลเบิร์ต อัลเบอริช ผู้อำนวยการของโมดารี กล่าวว่า โครงการนี้เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น แต่ต่อไปในอนาคต ที่นี่ (โรงงานแห่งนี้) จะเป็นสถานที่เปลี่ยนเสื้อผ้าใช้แล้วให้กลายเป็นวัตถุดิบใหม่สำหรับป้อนให้กับบริษัทแฟชั่นหลายรายในยุโรป ทั้งนี้ โมดา รี มีแผนจะขยายสาขาเพิ่มเติมในเมืองบาร์เซโลนา บิลเบา และวาเลนเซีย ของสเปน เพื่อทำการเก็บรวบรวมเสื้อผ้าใช้แล้วมาคัดแยก และเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อให้สอดรับกับกฎระเบียบใหม่ของอียูที่ต้องการควบคุมอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการลดจำนวนและบริหารจัดการขยะเสื้อผ้าใช้แล้ว  

นอกจากนี้ อินดิเท็กซ์ ยังร่วมมือกับบริษัทเอชแอนด์เอ็ม (H & M) พร้อมด้วยแมงโก (Mango) และบริษัทเเฟชั่นอื่น ๆ ตั้งองค์กรไม่เเสวงหาผลกำไรมาทำหน้าที่บริหารจัดการขยะจากอุตสาหกรรมนี้

ข้อมูลจากรายงานของรัฐบาลอียูที่เปิดเผยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่า แม้กระแสความพยายามที่จะลดปริมาณขยะจากเสื้อผ้าได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว แต่ทั่วทั้งยุโรปก็ยังคงมีขยะประเภทนี้อยู่ถึง 5.2 ล้านตัน และไม่ถึง 25% ถูกนำไปรีไซเคิล

ความพยายามบริหารจัดการขยะเสื้อผ้าเพื่อนำไปรีไซเคิลได้เริ่มขึ้นแล้ว

รายงานฉบับนี้ยังเปิดเผยว่า เสื้อผ้าใช้เเล้วหลายล้านตัน ได้ถูกส่งไปยังที่ทิ้งขยะที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ เช่นที่ทวีปแอฟริกา เป็นจุดหมายปลายทาง ซึ่งอาจก่อปัญหามลพิษต่อสิ่งเเวลล้อมได้

รายงานอีกฉบับขององค์การสหประชาชาติยังชี้ว่า อียูนำเสื้อผ้าใช้แล้วออกจากเขตดินแดนของตนเองปริมาณ 1.4 ล้านตันในปีที่เเล้ว (2565) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากเมื่อ 22 ปีก่อน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สาเหตุของปัญหาขยะเสื้อผ้าที่เพิ่มขึ้นมาก เกิดจากการบริโภคที่ “มากเกินไป”

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) ซึ่งผลิตเสื้อผ้าลำลองราคาถูกออกมาจำหน่ายเป็นสินค้าอายุใช้สั้นๆ ตามวัฏจักรของแฟชั่นที่มาไวไปไว ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าใช้เพียงไม่นาน ก็ซื้อหาตัวใหม่มาใช้ไปเรื่อยๆ ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างขยะเสื้อผ้าเป็นจำนวนมหาศาล และเป็นธุรกิจที่ “ไม่ยั่งยืนเป็นอย่างมาก” ทำให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ กลายเป็นอุตสาหกรรมตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา

ด้านอินดิเท็กซ์เอง ในฐานะผู้ผลิตเสื้อผ้ารายใหญ่ของยุโรป ออกมาระบุว่าบริษัทมีแผนดำเนินการเพื่อเป็นองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืนโดยตั้งเป้าว่า ภายในปี 2030 บริษัทจะใช้เส้นใยรีไซเคิลใน 40% ของเสื้อผ้าที่ผลิตออกมา นอกจากนี้ ยังมีแผนลงทุน 3.5 ล้านยูโรในโครงการโมดา รี เพื่อสนับสนุนการรีไซเคิลเสื้อผ้าใช้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งจุดรับเสื้อผ้าใช้แล้วจากลูกค้าในทุกๆสาขาร้านเสื้อผ้าของบริษัทในประเทศสเปนอีกด้วย

จุดรับเสื้อผ้าใช้แล้วจากลูกค้าในร้าน Zara และ H&M

บริษัทที่ปรึกษาแมคคินซีย์ (McKinsey) เปิดเผยในรายงานเมื่อปี 2565 ว่า ควรมีการลงทุนมูลค่า 6,000 ถึง 7,000 ล้านยูโรก่อนปีค.ศ. 2030 เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการและรีไซเคิลขยะจากเสื้อผ้าใช้แล้วให้ได้ตามเป้าหมายของสหภาพยุโรป

ข้อมูลอ้างอิง