นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีนเพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ หรือTPIPP ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง อุตสาหกรรม-พลังงานรายใหญ่ที่สุดของไทย กล่าวในงานสัมมนา ROAD TO NET ZERO โอกาส & ความท้าทายทางธุรกิจ จัดโดยฐานเศรษฐกิจ และเครือเนชั่น ว่า กลุ่มบริษัท TPIPP มีการเดินทางไปถึง Net Zero เช่นเดียวกัน แต่ในกลุ่มของบริษัท ทีพีไอ ใช้ชื่อว่า Journey to Net Zero คือการเดินทางของเราที่จะไปสู่เป้าหมาย Net Zero ซึ่งต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่ากลุ่มบริษัท ทีพีไอ ตัวย่อมาจากอะไร
โดยอักษร ตัว T มาจาก Technology โดยทางกลุ่มยืนยันว่าจะใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจ ส่วน P มาจาก Products หรือสินค้า ตั้งเป้าผลิตสินค้าที่ดีที่สุด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และ I ก็คือ Imnovation หรือนวัตกรรม โดยทางกลุ่มยืนยันที่จะผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อที่จะสร้างเทคโนโลยีใหม่ เพื่อผลิตสินค้าที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้น สรุป TPI ทุกอย่างโยงเป็นเส้นเดียวกัน โดยจะเริ่มที่ I ก็คือ นวัตกรรมก่อน เป็นภาพรวมของกลุ่ม
แต่เมื่อปรับลงมาเป็นบริษัท TPIPP เราได้สัญญาว่าจะเป็นผู้นำในด้านธุรกิจจากขยะสู่พลังงาน จะเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียว 100% และเติบโตไปพร้อมกับ CSR และยั่งยืนไปกับ BCG ซึ่งมาพูดถึงการเติบโตของบริษัท ถ้านับปี 2019 -2021 ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 440 เมกะวัตต์ 40 ด้านล่าง เป็นพลังงานความร้อนทิ้งที่รับมาจากบริษัทแม่ คือ บมจ.ทีพีไอ โพลีน ก็คือ บริษัทที่เป็นโรงปูนซิเมนต์ ส่วนอีก 220 เมกะวัตต์ เป็นถ่านหิน อีก 180 เมกะวัตต์ เป็นไฮไลต์ของเรา
ต่อมาการเดินทางของบริษัทไปถึงปี 2026 บริษัทยังคงเดิม 40 เมกะวัตต์ไว้ จะมีเติมสิ่งที่เรียกว่า โซล่าฟาร์ม (solar farm) และวินด์ฟาร์ม อีก 85 เมกะวัตต์ และ อีก 420 เมกะวัตต์ จะเป็นโรงไฟฟ้าจากขยะ จะสังเกตได้จากรูปสีแดง กราฟทางขวาสุด หายไปแล้ว คือเราจะไม่มีโรงไฟฟ้าจากถ่านหินเลย ภายในปี 2026 ใช้การลงทุน โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนในการเติบโต 1.เปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นโรงไฟฟ้าขยะ 2.มีโรงไฟฟ้าขยะไปสร้างนอกโรงงานจังหวัดสระบุรี และ 3.เพิ่มโซล่าฟาร์ม
ก่อนอื่นมาเริ่มที่เราเปลี่ยนจากโรงงานงานไฟฟ้าถ่านหิน เป็นโรงไฟฟ้าขยะ แบ่งออกเป็น 6 เฟส ได้แก่ เฟสที่ 1 สำเร็จไปเรียบร้อยแล้ว ประมาณ 10% ส่วนเฟสที่ 2 ก็จบไปแล้วเช่นกัน ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เฟสที่3 เพิ่งเสร็จเมื่อต้นปีที่ผ่านมา อีก 15% โดยรวมทั้งหมดประมาณ 40% ที่สำเร็จไปแล้ว ส่วนเฟสที่ 4 ถึงเฟสที่ 6 จะค่อยๆทยอยเสร็จ ประมาณสิงหาคม ปี 2567-2568 ทำให้เรากล้าพูดว่า ภายในปี 2026 เป็นต้นไป จะกลายเป็น Net Zero
อันดับต่อไปเราจะไปสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กนอกโรงงาน ที่จังหวัดสงขลา 7.29 เมกะวัตต์ และจังหวัดนครราชสีมา 9.9 เมกะวัตต์ ปัจจุบันโรงไฟฟ้าที่จังหวัดสงขลา กำลังขอในอนุญาตก่อสร้าง จากนั้นก็คาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ และคาดว่าจะเสร็จสิ้นปลายปีหน้า ส่วนของจังหวัดนครราชสีมา อาจจะช้ากว่าประมาณ 1 ปี คาดว่าจะเสร็จในปี 2026
ต่อมาในเรื่องของโซลาร์ฟาร์ม จะมี 3 ฟาร์ม และวินด์เทอร์บาย 5 เมกะวัตต์ จะติดตั้งทั้งหมดรวมกันประมาณ 80 เมกะวัตต์ จะทยอยเสร็จ ในปี 2024-2025 ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาทั้งสิ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าขยะ มี 3 โปรเจ็กต์รวมกัน ใช้เม็ดเงิน 1.2 หมื่นล้าน ที่ได้ลงทุนไปกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ Net Zero
นอกจากนี้ บริษัทฯ พร้อมจะเข้าไปช่วยบริหารจัดการบ่อขยะเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเมื่อช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้เข้าไปบริหารบ่อขยะที่จังหวัดนครราชสีมา บ่อขยะที่จังหวัดชลบุรี ทำให้พื้นที่สะอาดขึ้น ขยะหายไป สามารถกำจัดขยะ 60-70% และเชื่อว่า 5 ปีต่อจากนี้ จะกำจัดขยะออกได้หมด หลังจากนั้นเทศบาลสามารถเอาที่ดินไปทำเป็นโรงพยาบาล สถานีตำรวจ สวนสาธารณะ หรือห้างสรรพสินค้า เป็นต้น สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจใได้ดีกว่าการเป็นแค่บ่อขยะ ดังนั้น การที่บริษัทฯ ช่วยกำจัดขยะไม่ใช่ช่วยแค่สิ่งแวดล้อมแต่เป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนจากถ่านหินเป็นขยะ จะต้องใช้จำนวนขยะค่อนข้างมาก หลายคนบอกว่าขยะจะเป็นทองที่หายากซึ่งจริง ๆ แล้วขยะในประเทศไทยมีเยอะมาก โดยปริมาณก่อนเกิดโควิดมีถึง 71,000 ตันต่อวัน ซึ่งปัจจุบันต่อให้บริษัทซึ่งเป็นผู้ผลิตโรงไฟฟ้าขยะเกิน 50% ของประเทศแล้ว ใช้ขยะเพียงแค่ 10,000 ตันต่อวัน ดังนั้นยังมีอีก 6 ใน 7 ของขยะที่ยังถูกทิ้งในบ่อขยะ ต่อให้เราเพิ่มกำลังการผลิตก็ยังไม่เพียงพอกับการกำจัดขยะทั้งหมดที่ยังถูกผลิตอยู่
สำหรับความท้าทายของการเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียว คือ ตลาดคาร์บอน ซึ่งราคาซื้อขายต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป (EU) จะอยู่ที่ราว 80 ยูโร ส่วนจีนจะอยู่ที่ประมาณ 7 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ราคาของประเทศไทยไม่ได้ถึงเศษเสี้ยวของประเทศเหล่านั้น ดังนั้น การจะแก้ไขนั้น จึงจะขอยืมคำพูดของนักธุรกิจ อเมริกา เคยระบุว่า ศีลธรรมการทำความดีไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โอกาสทางธุรกิจต่างหากที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น นี่คือสิ่งที่ตนเคยพูดมา 2 ปีแล้ว ดังนั้น การที่เอกชนจะเข้าไปลงทุนเพื่อเป็น Net Zero ภาครัฐจะต้องมีแรงจูงใจมีการลงโทษสำหรับผู้ที่ยังไม่ทำและให้รางวัลสำหรับผู้ที่ดำเนินการอย่างจริงจัง