มาตรการ CBAM จะถูกนำมาใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 หลายอุตสาหกรรมต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องดังกลาาว
นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการ สถาบันพลาสติก เปิดเผยว่า พลาสติกมีการใช้ทั่วโลกโดยปีนี้มีการผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ 400 ล้านตันหรือเติบโต 2.5% จากปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยมีการส่งออกเม็ดพลาสติก 1.38 ล้านล้านบาท หรือ 6.74% ของ GDP ของประเทศ นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยประเทศไทยเองมีการใช้พลาสติกสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ 41% ซึ่งเติบโตมากในช่วงโควิด – 19
รองลงมาใช้ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง ยานยนต์ และที่มีการใช้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น คือ อุตสาหกรรมการแพทย์ โดยผู้ประกอบการพลาสติกไทยมี 3,000 กว่าราย 88% เป็น SMEs ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางกับภาคตะวันออก ผู้ประกอบการ 2,500 – 2,600 รายเป็นผู้ประกอบการพลาสติกแปรรูป
ด้านอุตสาหกรรมยางในไทย ประกอบด้วยยางธรรมชาติ และยางสังเคราะห์ ซึ่งลูกค้ารายใหญ่ของไทย คือ จีน อเมริกา เป็นต้น ยางได้ถูกนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยางและท่อยาง สำหรับผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทยมีมูลค่ารวมถึง 4,674 กิโลตัน จะเห็นได้ว่าทั้งพลาสติกและยาง มีปริมาณความต้องการใช้ที่สูงขึ้นและมีแนวโน้มนำไปใช้ในระดับอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญมาก
สำหรับมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เป็นมาตรการสำคัญของ European Green Deal ที่จะนำมาปรับใช้และส่งผลต่อการส่งออกสินค้าไทยไปสู่ยุโรปจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยเลี่ยงไม่ได้ การประกาศใช้มาตรการ CBAM ในวันที่ 1 ต.ค. 2566 แม้จะครอบคลุมสินค้าใน 5 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม โดยจะมีการเก็บเงินจากผู้ผลิตที่สร้างคาร์บอน 80 ยูโรต่อหนึ่งตันคาร์บอน และในอนาคตเชื่อว่ากลุ่มพลาสติกและยางจะถูกใช้มาตรการ CBAM ด้วยเช่นกัน
นายศิริภัทร โกเอี้ยน ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานบริหารบุคคลและความยั่งยืนองค์กร บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การใช้เม็ดพลาสติกในการผลิตถุงถือว่ามีตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมูลค่าตลาดพลาสติกสำหรับผลิตถุงมีมูลค่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
“ปัจจุบันยังเข้าใจว่าพลาสติกเป็นผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม จากที่เป็นผู้ผลิตมา 50 ปี พบว่าไม่มีอะไรมาทดแทนพลาสติกได้ ทั้งด้านความทน ความร้อน ทนกรด ทนน้ำ ฯลฯ กระดาษก็ทดแทนไม่ได้ นอกจากนี้ กระบวนการผลิตพลาสติกยังทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่น้อยกว่าถุงกระดาษถึง 17 เท่า ซึ่งบริษัทมีการส่งสินค้าไปยังยุโรป 70% ก็ต้องเตรียมพร้อมรองรับมาตรการ CBAM เช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม จากการมองเห็นความสำคัญของมาตรการ CBAM เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย และอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ได้ร่วมกันเสริมความพร้อมแก่นักอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงการผลิตแห่งความยั่งยืน ภายใต้งานพลาสติกแอนด์รับเบอร์ ไทยแลนด์ 2024 (Plastic & Rubber Thailand 2024) ซึ่งจะจัดในวันที่ 15 ถึง 18 พฤษภาคม 2567 ที่ไบเทค กรุงเทพฯ
เพตรา คัลแมน กรรมการบริหาร เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการต่อยอดพันธมิตรทางธุรกิจที่จะยกระดับประสบการณ์ใหม่แก่ลูกค้า โอกาสและการเติบโตทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุตสาหกรรมต้องเผชิญกับเป้าหมายความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียนของอุตสาหกรรม
นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า Plastic & Rubber Thailand 2024 จะสร้างโอกาสใหม่ให้แก่นักอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ ตั้งแต่ขนาดใหญ่จนถึงขนาดย่อม ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิตพลาสติกและยางได้อย่างครบครัน รวมถึงสามารถนำองค์ความรู้และนวัตกรรม รับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านการลดมลพิษจากกระบวนการผลิตตามแนวคิดแห่งความยั่งยืน
“ประเทศไทยนับเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกและยางในตลาดสำคัญ ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดียและภูมิภาคอาเซียน ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนามเป็นผู้เล่นที่สำคัญในภาคส่วนนี้เช่นเดียวกัน”