นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า บริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (Avaada Energy Private Limited) หรือ Avaada Energy ในกลุ่มอวาด้า (Avaada Group)
ผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในประเทศอินเดีย ซึ่ง GPSC ถือหุ้นในสัดส่วน 42.93% ผ่านบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ชนะการประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้ง 1.4 GW (กิกะวัตต์) ที่มีรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว
ทั้งนี้ ทำให้ปัจจุบันกำลังการผลิตรวมของ Avaada Energy เพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 8.76 GW จากความสามารถและความพร้อมในการขยายกำลังการผลิต ทำให้ปีนี้เป็นปีแห่งการเติบโตที่สำคัญของพอร์ตการลงทุนพลังงานสีเขียวของกลุ่มอวาด้า และ GPSC
“การชนะการประมูลดังกล่าว เป็นการตอบโจทย์ความต้องการพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนและสอดคล้องกับเป้าหมายของ GPSC ในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ ให้มากกว่า 50% ภายในปี 2573"
สำหรับตลาดพลังงานในอินเดียนั้น มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายของรัฐบาลอินเดียที่ต้องการเปลี่ยนมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายในทิศทางเดียวกันที่จะเดินหน้าไปสู่สังคมสีเขียว พัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นายวรวัฒน์ กล่าวอีกว่า การเปิดประมูลดังกล่าวจัดโดย NHPC Limited หรือ NHPC องค์กรภาครัฐ ผู้ประกอบธุรกิจไฟฟ้าในประเทศอินเดีย เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่สูงขึ้น อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลอินเดียส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพลังงานสะอาดในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เพื่อเดินหน้าสู่นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน
ทำให้ NHPC ได้เปิดให้ภาคเอกชนเข้าร่วมประมูล ตั้งแต่มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา และ Avaada Energy ได้รับชัยชนะจำนวนประมาณ 1 ใน 3 ของขนาดกำลังการผลิตรวมที่เปิดประมูล โดยผ่านการคัดเลือกจากการเสนอราคาในรูปแบบ e-Reverse Auction ซึ่งจะมีการลงนามซื้อขายไฟฟ้าหรือ PPA ที่มีอายุสัญญารับซื้อเป็นเวลา 25 ปี
โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายใน 24 เดือน คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 2,500 ล้านหน่วยต่อปี สามารถจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมภาคครัวเรือน ประมาณ 1.8 ล้านครัวเรือนด้วยพลังงานสะอาด และยังมีส่วนสำคัญต่อการลดการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศเทียบเท่า กว่า 2.3 ล้านตันต่อปี
"โครงการดังกล่าวเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายสายส่งระหว่างรัฐภายในประเทศอินเดีย หรือ Interstate Transmission System (ISTS) เพื่อตอบโจทย์การเข้าถึงพลังงานสะอาดในพื้นที่ภายในประเทศอย่างทั่วถึง"