พร้อมกันนี้ได้จับมือกับพาร์ทเนอร์ เพิ่มความเข้มข้นมาตรฐาน “ป้ายสัญลักษณ์ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน” สนองความต้องการนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นถึง 75% ในปีนี้
นางฉัตรสุดา เลิศพิริยกมล ผู้จัดการภาคพื้น ประจำประเทศไทย บริษัท บุ๊คกิ้งดอทคอม จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวถึงแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ Booking.com ที่ดำเนินการทั้งแบบภายในและภายนอกองค์กร เพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย Booking.com ตั้งเป้าหมายใหม่ที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 95% ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2040 (พ.ศ. 2583)
Booking.com รายงานเมื่อปี ค.ศ.2021 ว่าที่พักโดยรวมต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาลราว 768 พันล้านยูโร หรือราว 29,237.76 หมื่นล้านบาท เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ส่วนการลงทุนของ Booking.com ในด้านความยั่งยืน ไม่สามารถเปิดเผยได้
ช่วงสิ้นปี 2021 Booking.com ได้เปลี่ยนการดำเนินงานทั่วโลกไปใช้พลังงานหมุนเวียน และสามารถเปลี่ยนการใช้พลังงานไฟฟ้าในสำนักงานทั่วโลกเป็นพลังงานหมุนเวียนได้ 100% ตั้งแต่ปี 2021 นั่นคือ หนึ่งในแนวทางสำคัญที่ทำให้ Booking.com สามารถบรรลุเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีอิทธิพลโดยตรงทันที (ขอบเขต 1 และ 2) รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซที่ไม่ใช่โดยตรง (ขอบเขต 3) ได้ 95%
นางฉัตรสุดา กล่าวว่า Booking.com ได้จัดคอร์สอบรม สร้างความตระหนักรู้เรื่องของความยั่งยืนให้กับพนักงาน และจัดทำสำนักงานบางแห่งให้เป็นโครงการนำร่อง เพื่อการเดินหน้าสู่ Net Zero เช่น ที่สำนักงานจาการ์ต้า พนักงานห้ามใช้รถส่วนตัวมาทำงาน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน หลายสำนักงานใช้ระบบไฟฟ้าเซ็นเซอร์
สำหรับสำนักงานที่ประเทศไทย Booking.com พยายามลดใช้พลาสติก ของใช้ในออฟฟิศพยายามใช้ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ หรือสามารถนำไปรีไซเคิลได้ต่อ รวมทั้งมีการจัดอาหารกลางวันให้พนักงานได้สั่งรับประทาน เพื่อลดการเกิดขยะอาหาร เลิกการใช้แคปซูลกาแฟ เลือกใช้เม็ดกาแฟของไทย หรือจัดทำกิจกรรมแข่งขัน หากใครถือถุงพลาสติกเข้ามาออฟฟิศจะถูกหักคะแนน ถือเป็นการสร้างความตระหนักรู้ที่ค่อย ๆ พัฒนาต่อยอดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากการบริการจัดการภายในองค์กร และการดำเนินงานขององค์กร Booking.com เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายแล้ว ยังได้ขยายขอบข่ายสู่พาร์ทเนอร์ที่มีอยู่ทั่วโลก ทั้งที่พัก การเดินทาง และอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน
การทำโปรแกรม Travel Sustainable หรือ ป้ายสัญลักษณ์ “ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน” ได้ตั้งมาตรการครอบคลุมทั้งหมด 32 แนวทางที่มีประสิทธิภาพใน 5 หลักเกณฑ์สำคัญ ได้แก่ การจัดการขยะ พลังงานและก๊าซเรือนกระจก การจัดการนํ้า นโยบายการช่วยเหลือชุมชน และการปกป้องธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีที่พักมากกว่า 550,000 แห่งทั่วโลก รวมทั้ง 6,513 แห่งในไทย ได้รับป้ายสัญลักษณ์ “ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน” บน Booking.com เพื่อยืนยันและยกย่องแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยึดหลักความยั่งยืนของแต่ละที่พัก
ปี 2566 นี้ถือเป็นปีแรกที่เพิ่มความเข้มข้น ด้วยการจัดทำเป็นเลเวลของที่พักที่ได้รับป้ายสัญลักษณ์ ว่าสามารถได้เลเวลในระดับไหน ทำเรื่องใดได้บ้าง ซึ่งเป็นการวางข้อกำหนดสอดคล้องกับบริบทของที่พักในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลให้นักท่องเที่ยวได้ตรวจเช็คและตัดสินใจ
ล่าสุดพัฒนามาตรฐานการรับรองการเป็น “ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน” เพิ่มเติม ด้วยการเพิ่มจำนวนใบรับรองและป้ายกำกับพิเศษจากหน่วยงานด้านความยั่งยืนต่าง ๆ โดยที่พักที่เข้าเกณฑ์ของใบรับรองดังกล่าวจะได้รับป้ายสัญลักษณ์ "ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน" ไปโดยอัตโนมัติ
พร้อมกันนี้ในเวปไซด์ของ Booking.com ยังจัดทำวิธีการเดินทางที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเลือกใช้ หรือตรวจเช็คได้ว่า การเดินทางแบบไหน ปล่อยคาร์บอนเท่าไร มีการคำนวณไว้ให้เรียบร้อย
นางฉัตรสุดา กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลมามากกว่า 7 ปี การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ถือเป็นทางเลือกที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี โดยปีนี้พบว่า มากกว่า 75% ของนักเดินทาง ต้องการเลือกการเดินทางแบบรักษ์โลกเป็นมิตรต่อธรรมชาติ ซึ่งนักท่องเที่ยวไทย ถือว่าทำคะแนนสูงเกินประเทศต่าง ๆ ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เพราะราคาที่พักในแบบรักษ์โลกไม่ได้แตกต่างจากที่พักทั่วไป หรืออาจจะสูงกว่าเล็กน้อยเท่านั้น
ขณะเดียวกัน Booking.com ยังจัดคอร์สอบรมให้ความรู้กับบรรดาเจ้าของที่พัก ที่ต้องการเดินหน้าสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติในโครงการต่อไป