นายศิริพันธ์ อาจนนท์ลา ผู้บริหารสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ นำไปสู่แนวทางการปฏิบัติให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
โดยผลักดันเทศบาลทั้ง 31 แห่งในจังหวัดระยอง มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยถือเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้กาอบรมแนวทางการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
สมาคมฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
อย่างไรก็ดี ได้กำหนดแผนงานและโครงการต่างๆ ที่สอดรับกับบริบทของสังคมในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมที่หลากหลาย ทั้งในด้านประกอบกิจการภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว ภาคการเกษตร
สำหรับที่ผ่านมาสมาคมฯได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนกลุ่มสมาชิกทั้ง 76 โรงงาน ผ่านการรับรองเป็นโรงงาน Eco Factory ตั้งแต่ปี 2562 รวมถึงมีการขยายความร่วมมือกับทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ในการส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับโรงงานขนาดเล็กที่อยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม
ซึ่งสมาคมฯ มีโครงการสนับสนุนให้ อปท. และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมถึงชุมชน วัด โรงเรียน ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ให้มีการพัฒนาตามแนวทางขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อให้จังหวัดระยองพร้อมเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
"ปัจจุบันจังหวัดระยองมีเทศบาล 7 แห่งที่ผ่านการทวนสอบ Carbon Footprint สำหรับองค์กร ประกอบไปด้วย เทศบาลตำบลเมืองแกลง ในปี 2554 เทศบาลนครระยอง ในปี 2555 เทศบาลตำบลปากน้ำประแส ในปี 2559 เทศบาลเมืองมาบตาพุด ในปี 2562 เทศบาลตำบลบ้านฉาง และเทศบาลตำบลทับมา ในปี 2564"
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศระดับจังหวัด มุ่งดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้สอดรับกับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดต่อไป
นายศิริพันธ์ กล่าวอีกว่า ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย คณะทำงานเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดระยอง ,สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง ,องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดระยอง