นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า เจ้าของโรงงานและอาคารควบคุมต้องส่งรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานและรายงานการจัดการพลังงานประจำปี 2566 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567
ทั้งนี้ หากเพิกเฉยจะมีบทกำหนดโทษปรับทางพินัยสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ได้เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยซึ่งต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยตาม มาตรา 55 เจ้าของโรงงานควบคุม เจ้าของอาคารควบคุม หรือผู้รับผิดชอบด้านพลังงานผู้ใด ไม่ปฏิบัติตาม กฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 9 หรือมาตรา 21 อันได้แก่
กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. 2552 และกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติ หน้าที่และจำนวนของผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน พ.ศ. 2552 มีความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินสองแสนบาท
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นไปตามที่ พพ.ได้ออกกฎกระทรวง ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 โดยมีเป้าประสงค์ให้เกิดการจัดการพลังงานอย่างเป็นระบบ กำหนดให้โรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ต้องดำเนินการจัดการพลังงานเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมทั่วประเทศทั้งหมด จำนวน 9,857 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานควบคุม 6,524 แห่ง และอาคารควบคุม 3,333 แห่ง โดยในปี 2565 การกำกับดูแลโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม มีผลการประหยัดพลังงาน จำนวน 323.98 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (kTOE) สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 1,846.43 พันตัน CO2 จึงนับได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวประสบผลสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์
อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าของโรงงานและเจ้าของอาคารควบคุมได้ดำเนินการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมของตนเองแล้ว จะต้องจัดให้มีการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานโดยผู้ตรวจสอบพลังงาน และจัดส่งรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานดังกล่าว พร้อมกับรายงานจัดการพลังงานให้กับ พพ. ภายใน 31 มีนาคมทุกปี
“การกำกับดูแลโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม เป็นการปฏิบัติงานภายใต้พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่นอกจากจะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พพ.เชื่อว่าหากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติตามกฎหมายแล้วจะสามารถช่วยให้เกิดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมส่งผลดีในเชิงธุรกิจ และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านต้นทุนราคาและด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยให้ประเทศไทยในบรรลุเป้าหมายตามแผนอนุรักษ์พลังงานของกระทรวงพลังงาน”