ในงานเปิดตัวสำนักข่าว Climate Center ของฐานเศรษฐกิจ (25 มี.ค. 2567) ไฮไลท์สำคัญ นอกจากมีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างฐานเศรษฐกิจกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักให้กับประชาชนแล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษของผู้บริหารภาคธุรกิจ เพื่อสะท้อนมุมมองปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทิศทางภาคธุรกิจที่กำลังก้าวไป มีประเด็นมุมมองที่น่าสนใจยิ่ง
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ บรรยาย ในหัวข้อ "Energy Transition : จุดเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ" ว่า ความท้าทายจากคำมั่นสัญญาจาก COP28 คือความรวดเร็วในการเพิ่มพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 3 เท่าภายในปี 2573 ปัจจุบันกลุ่มปตท. เริ่มขายสินทรัพย์ที่เป็นฟอสซิลที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง เช่น ถ่านหินหมดแล้วในพอร์ต เป็นต้น
นอกจากนี้โออาร์ยังได้อนุมัติงบลงทุน 8,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการติดตั้งจุดชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ให้ได้ 7,000 จุดแบบชาร์จเร็ว หรือประมาณ 55% ของเป้าหมายประเทศไทยที่ต้องการมีจุดชาร์จอีวี 12,000 จุด เพื่อดูแลโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จากปัจจุบันที่มีอยู่ทั้งหมด 1,700 จุดทั่วประเทศ เพื่อมุ่งสู่พลังงานสะอาด
ขณะเดียวกันโออาร์เตรียมสร้างอุทยานอเมซอนบนพื้นที่ 615 ไร่ที่จังหวัดลำปาง เบื้องต้นจะใช้พื้นที่ประมาน 300 ไร่ เพื่อทดสอบระบบ ซึ่งอุทยานดังกล่าวจะเป็นศูนย์วิจัย และพัฒนา (R&D) กาแฟที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นศูนย์เรียนรู้และในอนาคตจะมีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งนี้มีประเด็นสำคัญคือการดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลเรื่องคาร์บอน โดยจะมีการปลูกกาแฟ และเคลมเรื่องคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นการจุดประกายแก่เกษตรกร
“โออาร์ยังคงมุ่งเน้นดูแลคนตัวเล็ก สร้างรายได้ให้ประเทศต่อเนื่อง รวมถึงกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจที่หลากหลาย เช่น อาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) รวมถึง Health & Wellness และอีก 3 เดือนจะเปิดร้านบิวตี้สโตร์ (Beauty Store) แห่งแรกของโออาร์”
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (บาฟส์) บรรยายในหัวข้อ “Net Zero : จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมการบิน” ความว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO คาดภายในปี 2050 การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากภาคการบินจะเติบโตขึ้น 3 เท่าจากที่ปล่อยอยู่ ณ ปัจจุบัน ขณะที่สมาชิก ICAO รวมถึงไทยได้ประกาศเจตนารมย์จะมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065
ดังนั้นน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) จึงเป็นกุญแจสำคัญ หากอยากเห็น SAF เกิดขึ้นได้จริงในไทย ต้องมีการตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับการตั้งคณะกรรมการยานยนต์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ SAF ทั้งนี้หากย้อนดูมูลค่าการซื้อขายน้ำมันอากาศยานดั้งเดิมที่เรียกว่า JET A-1 ในปี 2019 มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งผลประโยชน์ตกกับคนไม่กี่กลุ่ม ผู้ค้าน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น
“ในเรื่อง SAF ไทยมีศักยภาพมาก จากมีทั้งทรัพยากรและความพร้อม และจะเป็นประโยชน์มากเพราะตลอดห่วงโซ่อุปทานจะเกี่ยวข้องกับคนในวงกว้าง ทั้งเกษตรกร ครัวเรือนต่าง ๆ ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหารที่สามารถนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปขายในการผลิต SAF ได้ ซึ่ง SAF จะเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนตัวใหม่ของไทยได้ แต่ถ้าไม่ทำอะไร อีก 10 ปีไม่ทัน แข่งขันไม่ได้ สุดท้ายก็ยังต้องง้อต่างชาติ”
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุด สหภาพยุโรป(อียู) ประกาศแล้วว่าตั้งแต่ปีหน้า สนามบินในอียู สายการบินในอียู ผู้ค้าน้ำมันในอียู จะต้องขายน้ำมัน SAF 2% ของปริมาณการขายทั้งปี และจะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 70% ภายในปี 2050 ในสหรัฐอเมริกา มีการให้เงินสนับสนุนผู้ผลิต SAF จำนวน 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน สิงคโปร์ กำหนดออกมาล่าสุดว่าภายในปี 2026 ทุกเที่ยวบินที่บินออกจากสิงคโปร์ ต้องเติม SAF 1 % และจะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเป็น 3-5% ภายในปี 2030
นายนาฟนีท นายาน หน้าสายงานกลยุทธ์เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัททรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) กล่าวบรรยาย หัวข้อ “Road to Zero by True” ว่า เส้นทางของทรูฯสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือการทำให้เครือข่ายการให้บริการมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น เนื่องจากในการดำเนินงานของทรู 98% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากการใช้ไฟฟ้าในโครงข่าย ดังนั้นการยกระดับประสิทธิภาพของโครงข่าย พร้อมนำเข้าโซลูชันและระบบอัจฉริยะต่างๆ จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายข้างต้น
สำหรับกลยุทธ์ของทรูฯ สู่ Net Zero ที่สำคัญ คือ เร่งยกระดับเครือข่ายให้ล้ำสมัย ด้วยการอัปเกรดเสาสัญญาณทั่วประเทศในปี 2567 ซึ่งจะทำให้ความเร็วดาต้าและคุณภาพสัญญาณเพิ่มขึ้น และประหยัดพลังงานได้มากกว่า , การนำเทคโนโลยี AI และ Machine Learning มาใช้ในปฏิบัติการเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้พลังงานได้สูงสุด 15% ต่อเสาสัญญาณ และในปี 2567 มีแผนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่เสาสัญญาณรวมเป็น 11,200 แห่ง และดาต้า เซ็นเตอร์อีก 5 แห่ง คาดจะช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 28,800 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เป็นต้น
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) บรรยายพิเศษในหัว “Road to Green Finance” ใจความสำคัญระบุว่า Bob Brown หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคสีเขียวของออสเตรเลีย บอกว่า อนาคตคุณต้อง Go Green (มุ่งสู่เส้นทางสีเขียว) ถ้าไม่ Go Green ก็จะไม่มีอนาคตเลย ตัวอย่างในปีพ.ศ. 2325 ที่มีการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ อุณหภูมิบนเปลือกผิวโลกอยู่เพียงแค่ 13.39 องศาเซียลเซียส วันนี้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นเป็น 15 องศา
ดังนั้นหมุดหมายของแต่ละประเทศที่ว่า ปี 2050จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 ซึ่งไม่ว่าจะปักหมุดหมายในปีไหน มันสายเกินไปแล้ว แต่ยังดีกว่าไม่ทำอะไร และที่บอกว่า สิ้นศตวรรษนี้ อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศา ณ วันนี้ก็เพิ่มขึ้นมา 1.47 องศาแล้ว ดังนั้นอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะกลายเป็น 4 องศา
“ปี 2566 ถือว่า เป็นปีที่ร้อนที่สุดของโลก โดยดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ต่ำกว่า 50 มีแค่ 29 วันจาก 365 วันเท่านั้น หลังเปิดปีใหม่มา ยังไม่มีวันใดที่มี AQI ต่ำกว่า 5 แม้แต่วันเดียว นั่นคือความน่ากลัวที่เข้าใกล้เรามาทุกวัน เพราะฉะนั้นไม่ว่า คุณจะเป็นเจ้าสัว เป็นชนชั้นกลาง หรือมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน คุณมีสภาพอากาศเท่ากัน ไม่ใช่ว่าคนรวยมีโอกาสมากกว่าคนจน นั้นคือสิ่งที่องค์กรทุกๆแห่ง พยายามช่วยกันให้เกิดโลกที่ดีกว่าเดิม ขณะที่ภาคการเงินถือเป็นมือที่มองไม่เห็น วันนี้ EXIM BANK มีพอร์ตสินเชื่อประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่กว่า 6.2 หมื่นล้านบาทเป็นกรีนพอร์ต กำลังจะออกบลูบอนด์ในปีนี้ หลังจากที่มีการออกกรีนบอนด์ไป 2 ครั้งเม็ดเงิน 8,500 ล้านบาท”
อย่างไรก็ตาม หลายคนบอกว่า Green financing มีต้นทุนสูง โดยต้นทุนเทอมโลนในตลาดประมาณ 7-8% ซึ่งถ้าเป็นลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะแพงกว่านั้น แต่ลูกค้าที่มีหมุดหมายว่าจะ Go Green ถ้ามาที่ EXIM Bank ต้นทุนของเทอมโลนจะเหลือเพียงแค่ 4% เทียบเท่ากับสิ่งที่เรียกว่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องเอาเม็ดเงินนี้ไปปรับเปลี่ยนขบวนการผลิตองค์กรคุณให้สามารถที่จะต่อสู้รับมือกับ Ecosystem ที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้
ขณะที่เงินความต้องการเงินที่เป็นกรีนไฟแนนซ์ของโลกอยู่ที่ 8.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งที่สถาบันการเงินไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาอย่างเอ็กซิงแบงก์ทั้งโลก ซัพพลายได้อยู่แค่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่างกันถึง 6 เท่า ที่น่าตกใจคือ ทุกๆ 1 องศาที่โลกมีอุณหภูมิบนเปลือกผิวเพิ่มขึ้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นคือไม่ว่าจะถมแค่ไหนก็ไม่มีทางเต็ม
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ บับที่ 3978 วันที่ 28 – 30 มีนาคม พ.ศ. 2567