พบลักษณะเฉพาะพันธุกรรมพะยูนไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก

15 มิ.ย. 2564 | 11:37 น.

ความสำเร็จของนักวิจัย มช. สร้างความตื่นเต้นไปทั่วโลกกับการค้นพบลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมของพะยูนไทยที่ไม่เหมือนอื่นใดในโลก"

พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในทะเล ปัจจุบันประชากรได้ลดลงไปอย่างมาก โดยในประเทศไทยพบประมาณ 200 ตัวเท่านั้น อาศัยมากแถบทะเลจังหวัดตรัง จากที่มีจำนวนลดลงอย่างมากจนใกล้สูญพันธุ์จึงถูกคุ้มครองด้วยกฎหมายจำนวนมาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กรมทรัพยากรชายทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ประสบความสำเร็จในการศึกษาเรื่อง “ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพะยูนในประเทศไทยและทั่วโลก” ซึ่งผลจากการศึกษาสร้างความตื่นเต้นให้นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศมาก เนื่องจากพบว่ามีพะยูนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยในทะเลอันดามันของประเทศไทยมีลักษณะประชากรที่จำเพาะไม่เหมือนพะยูนที่อื่นในโลกนี้ โดยผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Scientific Reports ฉบับล่าสุดเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564

พบลักษณะเฉพาะพันธุกรรมพะยูนไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก

ปัญหาสำคัญของการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนพะยูนคือไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ รวมถึงยากที่จะเลี้ยงให้รอดชีวิตในพื้นที่จำกัดที่ไม่ใช่ทะเล ตามที่เคยเป็นข่าวดังก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็น “มาเรียม” หรือ “ยามีล”  ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายสำหรับทีมนักวิจัยในการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาแนวทางในการจัดการอนุรักษ์ รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์  หัวหน้าคณะผู้วิจัยได้ให้ข้อมูลว่า ในการศึกษาครั้งนี้ใช้ตัวอย่างจากเนื้อเยื่อพะยูนจำนวน 118 ตัว ที่เก็บมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ถึง 2562 แบ่งเป็นพะยูนจากทะเลอันดามันจำนวน 110 ตัว และทะเลอ่าวไทย  8 ตัว พบว่าความหลากหลายทางพันธุกรรมของพะยูนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลดลงกว่าในอดีต ในประเทศไทยพบความแตกต่างของรูปแบบพันธุกรรมจำนวน 11 รูปแบบ โดยพบในทะเลอันดามัน 9 รูปแบบ พบในทะเลอ่าวไทย 2 รูปแบบ แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบลักษณะทางพันธุกรรมกับพะยูนที่อาศัยจากส่วนอื่นในโลกพบว่า ในประเทศไทยมีประชากรพะยูน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีความจำเพาะไม่เหมือนประชากรที่ใดในโลก พบบริเวณทะเลอันดามัน ส่วนอีกกลุ่มเป็นประชากรที่เหมือนพะยูนอาศัยในบริเวณทะเลจีนใต้แถบประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงลำดับพันธุกรรมพบว่าประชากรกลุ่มที่มีความจำเพาะของประเทศไทยนี้เป็นประชากรที่แยกมาจากอีกกลุ่มหนึ่งเมื่อประมาณ 1.2 ล้านปีที่แล้ว

พบลักษณะเฉพาะพันธุกรรมพะยูนไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก

นอกจากนั้น ตอนนี้เรากำลังศึกษาเพิ่มเติมว่าในจำนวนประชากรพะยูนกลุ่มนี้ที่จะแบ่งได้เป็นกี่ครอบครัว ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญอีกอันที่จะช่วยประเมินสถานการณ์ของพะยูนในประเทศไทย เนื่องจากก่อนหน้านี้เราทราบเพียงจำนวนพะยูนที่พบจากการสำรวจและจำนวนที่ตาย แต่เราไม่มีข้อมูลเลยว่าในประชากรพะยูนเหล่านี้จะมีด้วยกันกี่ครอบครัว

พบลักษณะเฉพาะพันธุกรรมพะยูนไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก

ดร. ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรามีคำถามตลอดว่า พันธุกรรมของพะยูนที่อยู่ในน่านน้ำของประเทศไทยเหมือนกับพะยูนที่อาศัยอยู่ในบริเวณอื่น ๆ ของโลกหรือไม่ ซึ่งผลที่ได้จากศึกษาครั้งนี้น่าตื่นเต้นมาก เนื่องจากทำให้เราทราบว่าประเทศไทยเรามีประชากรพะยูนที่มีพันธุกรรมไม่เหมือนที่อื่น ซึ่งเราต้องอนุรักษ์ประชากรพะยูนเหล่านี้ไว้ให้ได้ ดังนั้นต่อไปนี้เราต้องมีมาตรการในการอนุรักษ์ประชากรพะยูนที่เด็ดขาด เราไม่ควรต้องสูญเสียพะยูนไปอีกแล้ว โดยเฉพาะสาเหตุที่มาจากมนุษย์เอง สำหรับคำถามที่เรารอคำตอบคือพะยูนที่อาศัยในน่านน้ำของประเทศไทยนั้นประกอบไปด้วยกี่ครอบครัว และเป็นสิ่งที่ทางเราต้องการทราบมาโดยตลอด”

พบลักษณะเฉพาะพันธุกรรมพะยูนไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์และมีจำนวนประชากรไม่มากแล้ว ซึ่งผลการวิจัยการค้นพบลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมของพะยูนในไทยในครั้งนี้ จะสามารถใช้เป็นแนวทางการจัดการ สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ นำไปสู่การอนุรักษ์พะยูน และสร้างสมดุลทางทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลได้อย่างยั่งยืน