thansettakij
เศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนพุ่งแตะ 1.74 แสนล้านดอลลาร์  ยูนิคอร์น ผงาดพรึบ!

เศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนพุ่งแตะ 1.74 แสนล้านดอลลาร์ ยูนิคอร์น ผงาดพรึบ!

13 พ.ย. 2564 | 15:46 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2564 | 23:12 น.

โควิด-19 หนุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนเพิ่มขึ้น มูลค่าแตะ 1.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดมูลค่าถึง 3.63 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 ขณะที่ยูนิคอร์นเทคสตาร์ทอัพ แห่แจ้งเกิดเพียบ

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของกลุ่มประเทศอาเซียน ได้รับปัจจัยบวกจากจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคระบาดรุนแรง รวมถึงบริษัทสตาร์ตอัพเทคโนโลยีที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 3.63 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 และมีโอกาสแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030

เศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนพุ่งแตะ 1.74 แสนล้านดอลลาร์  ยูนิคอร์น ผงาดพรึบ!

รายงานประจำปี e-Conomy SEA Report 2021 จัดทำโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง “กูเกิล” ร่วมกับกองทุน “เทมาเส็ก” ของสิงคโปร์ และบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ “เบนแอนด์โค” ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ทำการสำรวจวิเคราะห์ครอบคลุมประเทศเศรษฐกิจในอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

 

โดยภูมิภาคอาเซียนมีจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านคนในปีนี้ ส่งผลให้ปัจจุบันมียอดรวมของผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตในอาเซียนอยู่ที่ราว 350 ล้านคน คิดเป็น 75% ของประชากรทั้งภูมิภาค และในจำนวนดังกล่าวราว 8 ใน 10 รายเคยสั่งซื้อของออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง

 

สเตฟานี เดวิส  รองประธานกูเกิลประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมืองใหญ่ในภูมิภาคเป็นพื้นที่ที่มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและการบริโภคออนไลน์สูงที่สุด แต่เห็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลงที่อย่างชัดเจนในเวลานี้

 

“จำนวนผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตในพื้นที่นอกเมืองมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และกลายมาเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในปี 2020ละขยายตัวมากขึ้นในปีนี้ โดยเราจะเริ่มมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างผู้บริโภคในเมืองและในชนบท” 

 

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนในปีนี้อยู่ที่ 1.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 49% จาก 1.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020   ไม่เพียงจำนวนผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ขยายตัวเท่านั้น แต่สตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสตาร์ตอัพที่กลายเป็น “ยูนิคอร์น” ด้วยมูลค่าบริษัทสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ปีนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 11 ราย ส่งผลให้ปัจจุบันอาเซียนมียูนิคอร์นรวมเป็น 23 ราย

ยูนิคอร์นหน้าใหม่ที่เกิดขึ้น อาทิ คาร์โร (Carro) แพลตฟอร์มขายรถมือสอง, นินจา แวน (Ninja Van) ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุ ซึ่งทั้ง  2 ราย เป็นสตาร์ตอัพของสิงคโปร์

 

ส่วนบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง “แกร็บ” (Grab) และ “โกทู” (GoTo) ยังคงเป็นที่จับตาของนักลงทุนทั่วโลก เช่นเดียวกับกลุ่ม “ซี กรุ๊ป” (Sea Group) ยักษ์เทคโนโลยีของสิงคโปร์ที่กลายเป็นบริษัทมาแรง ด้วยมูลค่าตลาด (market cap) ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มยอดนิยม ไม่ว่าจะเป็นเกมออนไลน์อย่าง “การีน่า” (Garena) และช็อปปิ้งออนไลน์อย่าง “ช้อปปี้” (Shopee)

 

รายงานยังชี้ให้เห็นว่า กระแสเงินทุนของนักลงทุนทั่วโลกในสตาร์ตอัพเทคโนโลยีของอาเซียนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมูลค่าข้อตกลงทางธุรกิจในบริษัทเทคโนโลยีอาเซียนช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 11,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นราว 65% จากช่วงเดียวกันของปี 2020 และเกือบเท่ากับมูลค่ารวมของข้อตกลงตลอดทั้งปี 2020 ที่ 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับในไทยปีนี้ถือว่าเป็นปีทองของสตาร์ทอัพ เพราะเกิดสตาร์ทอัพ ที่มีมูลค่าธุรกิจ  1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 33,000 ล้านบาท  หรือที่เรียกว่า “ยูนิคอร์น”เกิดขึ้น 3 รายรวด  เริ่มต้นจากแฟลช กรุ๊ป ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และอีคอมเมิร์ซครบวงจร  ที่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาสามารถปิดดีลยักษ์จากการระดมทุนรอบซีรีส์ D+ และ ซีรีส์ฺ E จากกลุ่ม Buer Capital Limited และ SCB 10X เข้าร่วมทุน พร้อม eWTP -โออาร์-เดอเบล-กรุงศรีฟินโนเวต ที่ลงเพิ่มได้เม็ดเงินรวมไปกว่า 150 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4,700 ล้านบาท นับเป็นสตาร์ทอัพไทยรายแรก ที่สามารถระดมทุนรวมได้มากที่สุดในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปี ทำให้ธุรกิจมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 30,000 กลายเป็นยูนิคอร์นรายแรกของไทย และประกาศขึ้นเป็นขนส่งเอกชนอันดับ 1 ด้วยตัวเลขจัดส่งพัสดุต่อวันสูงสุดร่วม 2 ล้านชิ้น

 

ต่อมาในเดือนกันยายน แอสเซนด์ มันนี่ (Ascend Money) หนึ่งในธุรกิจเรือธง ให้บริการด้านการเงินดิจิทัลของ "เครือซีพี" ประกาศเป็นยูนิคอร์นด้านฟินเทครายแรกของไทย   ภายหลังระดมทุนรอบใหญ่กวาดเม็ดเงินไป 150 ล้านดอลลาร์   จาก บริษัท โบว์ เวฟ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ (Bow Wave Capital Management) จากสหรัฐอเมริกา มาลงทุนร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และแอนท์ กรุ๊ป  ทำให้มูลค่าธุรกิจทะยานชึ้นเป็นมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์  โดยเม็ดเงินจากการระดมทุนรอบใหม่นี้จะถูกนำไปสร้างการเติบโตให้กับ TrueMoney แอปพลิเคชัน e-Wallet ของทางค่าย รวมถึงจะนำไปขยายบริการทางการเงินดิจิทัล เช่น การทำ Digital Lending และ Digital Investment รวมถึงการโอนเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

รายล่าสุดที่ปิดดีลกันในเดือนพฤศจิกายน โดยกลุ่มเอสซีบี เอ็กซ์” SCBX  เข้าลงทุนใน Bitkubบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด” (Bitkub Online Co., Ltd.) ผู้นำด้านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย (Digital Asset Exchange) ผ่านการเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจาก Bitkub บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (Bitkub Capital Group Holdings Co., Ltd.) คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท

 

โดยมี “บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด” (SCBS) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รับหน้าที่ผลักดันและทำงานร่วมกับ “Bitkub” ในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในการสร้างธุรกิจร่วมกัน รวมถึงสร้างระบบนิเวศทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Ecosystem) ที่มี Digital Asset Exchange เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของ Ecosystem ในระดับประเทศให้มีความแข็งแกร่งและเติบโตต่อไป