วันนี้ (30 สิงหาคม 2565 ) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สมัยที่ 4 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยมีนางสาวกัลยา ชินาธิวร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
ในโอกาสนี้ นายชัยวุฒิ ได้ร่วมหารือทวิภาคีกับ Ms. Armida Salsiah Alisjahbana ตำแหน่ง Under-Secretary General of the United Nations and Executive Secretary of UNESCAP เกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) และ การเชื่อมโยงผ่านดิจิทัล (Digital Connectivity) พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดทำความร่วมมือด้านไอซีทีและเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างไทย กับ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเซียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ESCAP)
รวมถึงการให้การสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานของเอสแคปภายใต้ข้อริเริ่มทางด่วนข้อมูลสารสนเทศเอเชียและแปซิฟิก (AP – IS Initiatives) และได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับโครงการที่ส่งเสริมการพัฒนาบุคคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน กับศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asian and Pacific Training Center for Information and Communication Technology for Development: APCICT) ซึ่งประเทศไทยได้รับการเลือกตั้ง เข้าร่วมเป็น Governing Council ในวาระปี ค.ศ. 2022 - 2025
ตลอดจนความร่วมมือในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางรับส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตในแปซิฟิกผ่าน Internet Exchange Protocol (IXP) ของประเทศ CLVT
ทั้งนี้ การประชุมฯ สมัยที่ 4 มีผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับประสบการณ์ และนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ในหัวข้อสำคัญ ได้แก่
(1) ร่างแผนปฏิบัตการ AP-IS Action Plan ระยะที่ 2 ปี ค.ศ. 2022 - 2026 ประกอบด้วยบทสรุปของการดำเนินการ และความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการ แผนปฏิบัติการสำหรับการดำเนินการตามข้อริเริ่มของทางด่วนข้อมูลเอเชียแปซิฟิก 2022–2026 เพื่อรับรองเอกสารฉบับดังกล่าว
(2) เทคโนโลยีการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
(3) การประเมินศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เพื่อสนับสนุนข้อมูลให้กับศูนย์ฝึกอบรม The Asian and Pacific Training Centre for Information and Communication Technology for Development
และ (4) แนวโน้มของเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมในการประมวลผลข้อมูลที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเอเชียและแปซิฟิก.