น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่1 ทีมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธานหารือในวันนี้ได้พิจารณาขอบข่าย อำนาจของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ต่อการควบรวมธุรกิจ ทรู -ดีแทค ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการ โดยมีมติว่ากสทช.ไม่มีอำนาจสั่งการ ว่า ส่วนตัวถือได้ว่าเกินความคาดหมาย แต่การที่กสทช.พยายามหาหลังพิงจากการตีความของกฤษฎีกา เชื่อว่าไม่เพียงพอที่จะสามารถหลุดรอดการใช้อำนาจของตัวเองไปได้ ซึ่งอยากให้กสทช.คิดใหม่ เพราะความเห็นของกฤษฎีกาไม่มีอำนาจผูกพันในองค์กรอิสระ
การที่มีมติ 3 ต่อ 2 เพื่อยื่นไปยังนายกรัฐมนตรีขอให้กฤษฎีการตีความก็ใช้ได้เพียงแค่กรณีเป็นการภายใน ไม่มีผลผูกพัน ไม่สามารถเป็นที่พิงหลังให้กับกสทชได้. ขณะเดียวกันเรื่องที่มีการฟ้องร้องในชั้นศาลปกครองก็เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้น ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด ซึ่งการที่กสทช.จะมีอำนาจพิจารณาอนุญาตไม่ใช่ความผิดปกติ กสทช.อาจใช้อำนาจของตัวเองอนุมัติอนุญาตการควบรวมครั้งนี้ก็ทำได้ แต่การถอยร่นไปจนถึงว่าตัวเองไม่มีอำนาจหรือว่าพยายามที่จะ ตัดอำนาจให้พ้นตัว หากมองอีกมุมก็เป็นคนไม่หวงอำนาจ หรือไม่ใช้อำนาจของตัวเองอย่างเต็มความสามารถเพื่อทำหน้าที่ตามพรบ.กสทช.และตามรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน
ส่วนกรณีที่ว่ากสทช.จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น พรรคก็อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าขัดต่อมาตรา 157 หรือไม่แต่เนื่องจากยังมีกระบวนการเตะถ่วงยื้อเวลาไปเรื่อย ทำให้พรรคยังไม่สามารถยื่นฟ้องความผิดฐานขัดมาตรา 157 ได้ในเวลานี้ แต่เมื่อไหร่ที่รับคำวินิจฉัยการตีความทางกฎหมายของกฤษฎีกาก็จะเริ่มกระบวนการยื่นฟ้องทันที ส่วนการพยายามยืมมือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ให้ออกกคำสั่ง ขึ้นอยู่กับองค์กรที่ตีความ แต่เชื่อว่ากฤษฎีกาที่ตีความทั้งๆที่รู้ว่าไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายก็จะรอด แต่คนที่คิดว่าจะไม่รอดก็น่าจะเป็นกสทช.
น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวถึงกรณีที่สำนักงาน กสทช.ขอข้อมูลเพิ่มเติมในวันพรุ่งนี้ (14เมษายน) และคาดว่าจะปิดดีลปัญหาควบรวมได้ภายในปีนี้ เชื่อว่าคงเป็นภาวะกดดันจากเอกชนในเรื่องระยะเวลาการให้คำตอบภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ยื่นรายงาน ซึ่งมองว่าระยะเวลา 90 วันเป็นระยะเวลาของเลขาธิการสำนักงาน แต่ในส่วนของคณะกรรมการยังมีระยะเวลาพิจารณา ซึ่งในต่างประเทศใช้เวลาถึง 2 ปี จึงอยากขอให้ทางสำนักงานใจเย็น อย่าไปอยู่ภายใต้แรงกดดัน ของเอกชนมากจนเกินไป กฎหมายไม่ได้เขียนหละหลวม และให้อำนาจอย่างเต็มที่ พร้อมขอให้ตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเอง และทั้งที่มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. เพื่อทำหน้าที่เสนอความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมาย โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานอนุกรรมการ แต่กลับโยนให้กฤษฎีกาตีความ
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า อาจเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในปี 59 ในการที่นายมีชัยมานั่งเป็นประธานกฤษฎีกาชุดนี้ เราเคยมีร่างรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ แต่ก็ยังยังไม่เป็นที่น่าพอใจกับผู้ที่มีอำนาจ และเมื่อมีฉบับที่สร้างปัญหาทำให้ประเทศยุ่งเหยิงจนถึงทุกวันนี้คือรัฐธรรมนูญ 60 และวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรี รวมถึง การที่นายมีชัยมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีการับเผือกร้อนตีความทางกฎหมาย ทำให้ผูกพันยุ่งเหยิง สังคมต้องมาตีความเรื่องนี้ในอนาคตอีก ขอเรียกร้องอย่าให้ต้องคอยมาตีความใหม่เหมือนที่ทำไว้ในรัฐธรรมนูญ 60 อีก.