ธปท.เตือนรับมือดิจิตอลไล่ล่า เร่งพัฒนาฟินเทค สนับสนุนปล่อยกู้P2P

07 ส.ค. 2560 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2560 | 16:52 น.
แบงก์ชาติเตือนรับมือยุคดิจิตอลไล่ล่า แนะภาคธุรกิจพึ่งเทคโนโลยีเพิ่มขีดแข่งขัน ประชาชนจ่อตกงานเพิ่ม ขณะที่สถาบันการเงินลำบากลูกหนี้ยิงตรงเจ้าหนี้

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์“ฐานเศรษฐกิจ”แนะนำให้ประชาชนและภาคธุรกิจเร่งปรับตัวรับมือ Digital Economy ที่จะทำให้การทำธุรกิจเปลี่ยนโฉมและคนทำงานจะตกงาน โดยเฉพาะเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่จะทำธุรกรรม โดยไม่ต้องพึ่งพาสถาบันการเงินต่อไป TP08-3285-1

ปัจจุบัน Digital Economy ที่คนจะเข้าใจไม่เหมือนกัน การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจ การศึกษา หรือแม้แต่การบริโภค รวมถึงการสร้างนวัตกรรม (Innovation) จะนำเรื่องของ ICT เข้ามาช่วย แต่หากพูดถึงเรื่องของ Digital Economy ต่างประเทศมีมานานแล้ว โดยนำมาช่วยเรื่องการบริโภคและภาคธุรกิจ

“ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มนำดิจิตอลมาใช้เรื่องของธุรกิจออนไลน์และอี-คอมเมิร์ซ ส่วนของบล็อกเชนเริ่มมีให้เห็นบ้าง ขณะที่ด้านการเงินจะเห็นผู้กู้-ผู้ฝากเงิน จะจับคู่กันง่ายขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางทางการเงิน หรือตัวกลางของธุรกิจอีกต่อไป

ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ประเมินมูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทย พบว่า ในปี 2559 ตลาดอี-คอมเมิร์ซมีมูลค่าราว 2.52 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวเฉลี่ย 48% ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยที่นิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น

นายเมธี กล่าวว่าผลกระทบจาก Digital Economy เป็นปัจจัยสำคัญที่สังคมไทย ทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบการ จะต้องปรับตัว นำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อความอยู่รอด และแข่งขันได้

“เมื่อการทำธุรกิจและการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยไม่นำ ICT มาใช้ จะมีผล คือ 1.ไม่สามารถสู้คนอื่นได้ และการกระจายคนจะยากขึ้น และ 2.การมาทำงานแทนคน ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงาน และลักษณะการลงทุนในเครื่องจักรเปลี่ยนมาลงทุนซื้อในเรื่องของโปรแกรมมากขึ้น หรือการนำดิจิตอลมาใช้กับคนฐานรากมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น”

อย่างไรก็ตามการที่อินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้โดยตรง หรือช่วยประหยัดการใช้กระดาษ ช่วยลดต้นทุนของธนาคารได้ แต่สิ่งเหล่านี้จะตามมาด้วยความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงด้านไซเบอร์ แอตแทก ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารต้องตระหนักถึงและให้ความสำคัญทั้งส่งเสริมและป้องกันด้านความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับระบบด้วย

ส่วนสกุลเงิน Digital Currency จะเห็นว่าบางประเทศให้ความสำคัญ แต่นโยบายของธนาคารกลางแต่ละประเทศแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างกัน เช่น ประเทศจีน เขาต้องการที่จะสร้างสกุลเงินดิจิตอลเองเลย หรือบางประเทศศึกษาอยู่

ส่วนประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ให้ความสำคัญ แต่ไม่ได้สนใจที่จะสร้างสกุลเงินดิจิตอล แต่สนใจในการศึกษาถึงประโยชน์และความเสี่ยง ซึ่งมีทีมงานดูแลเรื่องนี้อยู่ แต่การใช้สกุลเงินดิจิตอลจะต้องยอมรับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยจะต้องปลอมแปลงยากและขโมยยากด้วย

ขณะที่สกุลเงินดิจิตอลยอดนิยมอย่าง“บิตคอยน์ นั้น รองผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า หากมีการซื้อขายกันเองจะไม่ได้รับประกันเพราะยังไม่ได้อนุญาตให้ เป็นสกุลเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เงินบิตคอยน์ เกิดขึ้นได้จะขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลาย โดยดีมานด์ก็ขึ้นอยู่กับการยอมรับของคน

ทั้งนี้ ธปท.ได้ออกมาเตือนว่า สกุลเงินดิจิตอล บิตคอยน์ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และมีความเสี่ยงจากการใช้และสูญหายได้ เพราะบิตคอยน์ไม่ได้ให้ถูกใช้ในธุรกิจปกติ แต่ใช้ในธุรกิจผิดกฎหมาย หากรับซื้อขายจะมีความเสี่ยง แต่บางประเทศก็ยอมรับเงินสกุลดิจิตอล

นายเมธี กล่าวว่า สำหรับการปล่อยกู้แบบ P2P ธปท.กำลังดู Platform อยู่ และกำลังส่งเสริมให้มีการพัฒนาฟินเทค โดยผ่านสนามทดสอบ (Sandbox) ว่า ฟินเทคที่เข้ามามีผลต่อธุรกิจและคนอย่างไรใช้ได้จริงหรือไม่ และดูการพัฒนา
ส่วนตัวกฎหมายที่จะมาดูแลจะเป็นในภาพกว้างๆ แต่ก็มีกฎหมายระบบการชำระเงินที่กำลังผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติออกมา รวมถึงยังมีกฎหมายคณะปฏิวัติ พ.ศ. 2558 หรือ ปว.58 ที่จะนำมาใช้ได้ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560