“รถพลังงานไฟฟ้า” จะครองโลก!

29 ส.ค. 2560 | 07:33 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2560 | 17:49 น.
TP10-3292-2C


“อินเดีย” หนึ่งในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้ประกาศเป้าหมายว่า ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) จะใช้ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” ทั้งหมดในประเทศ ซึ่งคาดว่า จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปกับค่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ต้องจ่ายไปปีละกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในปัจจุบัน อินเดียเป็นผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก แต่ละปีมีการนำเข้าพลังงานคิดเป็นมูลค่าถึง 1.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่ ในภาพรวมของตลาดโลกนั้น ตามรายงานของ “เจพี มอร์แกน เชส” คาดว่า ในอีก 8 ปี คือ ในปี 2025 (พ.ศ. 2568) รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะครองส่วนแบ่งตลาดที่ 35% และจะเพิ่มเป็น 48% ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ถือเป็นเทรนด์ของโลกที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

แน่นอนว่า การมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) นั้น จะทำให้บางอุตสาหกรรมในโลกต้องพบกับผลกระทบอย่างรุนแรงไม่น้อยทีเดียว ซึ่ง “เจพี มอร์แกน เชส” ได้รายงานเอาไว้น่าสนใจทีเดียว

[caption id="attachment_201095" align="aligncenter" width="503"] รถยนต์ไฟฟ้า FOMM จากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาตั้งฐานการผลิตเพื่อส่งออกในประเทศไทยแล้ว รถยนต์ไฟฟ้า FOMM จากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาตั้งฐานการผลิตเพื่อส่งออกในประเทศไทยแล้ว[/caption]

 

การมาถึงของ “รถยนต์ไฟฟ้า” นั้น จะส่งผลกระทบต่อบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์บางประเภทอย่างรุนแรง เนื่องจากเมื่อเทียบกันแล้ว รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจะมีส่วนประกอบที่ทำให้รถยนต์เคลื่อนตัวได้นั้นลดลง โดยมีเพียงชิ้นส่วนประมาณ 20 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับรถยนต์แบบที่ใช้พลังงานน้ำมัน หรือ ก๊าซ แบบในปัจจุบัน ที่เรียกว่า Internal Combustion Vehicle หรือ ICV หรือ รถยนต์ที่ใช้การขับเคลื่อนของการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงภายใน จะมีชิ้นส่วนประกอบในตัวรถมากถึงกว่า 200 ชิ้น

นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

อุตสาหกรรมต่อมาที่จะได้รับผลกระทบ คือ อุตสาหกรรมไฟแนนซ์รถยนต์ เนื่องจากอายุการใช้งานของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า น่าจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ทำให้การรีไฟแนนซ์ การขายต่อ ก็จะลดลงไปด้วย การกู้ซื้อยืมเพื่อการซื้อยานยนต์ก็จะมีปริมาณลดลงตามไปด้วย

และสุดท้าย อุตสาหกรรมน้ำมัน น่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและโดยตรง ซึ่งคาดว่า ในปี 2032 นั้น ความต้องการน้ำมันจะลดลงราว 15% ทีเดียว

[caption id="attachment_201100" align="aligncenter" width="503"] สถานีชาร์จไฟฟ้ารถอีวีในประเทศญี่ปุ่น สถานีชาร์จไฟฟ้ารถอีวีในประเทศญี่ปุ่น[/caption]

ทั้ง 3 อุตสาหกรรมที่กล่าวเอาไว้ คือ ผู้ที่จะต้องพ่ายแพ้ เมื่อรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าครองโลก และผู้ชนะล่ะ คือ ใครบ้าง?

เจพี มอร์แกน เชส บอกเอาไว้ว่า อุตสาหกรรม “เซมิคอน ดักเตอร์” จะเป็นผู้ชนะอย่างแน่นอน เพราะความต้องการสารกึ่งตัวนำไฟฟ้าจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ามาถึง ก็จำเป็นต้องมีการก่อสร้างสถานีสำหรับชาร์จไฟฟ้ามากขึ้นเช่นกัน และนั่นจะทำให้อุตสาหกรรม “เซมิคอน ดักเตอร์” ทั่วโลก จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น

“รถยนต์ไฟฟ้า” ถือว่าเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกที่ต้องจับตา และจะมาถึงมือผู้บริโภคอย่างเรา ๆ แน่นอน


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,292 วันที่ 31 ส.ค. - 2 ก.ย. 2560

e-book