thansettakij
ม.ศิลปากรชนะเลิศผลงานนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าพลาสติกชีวภาพ

ม.ศิลปากรชนะเลิศผลงานนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าพลาสติกชีวภาพ

25 ก.ย. 2560 | 12:57 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2560 | 19:57 น.
บริษัท ทอทาล คอร์เบี้ยน พีแอลเอ จำกัด จับมือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุประกาศผลงานนวัตกรรม “Bioplastics Innovation Contest 2017” มุ่งยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพไทย

บริษัท ทอทาล คอร์เบี้ยน พีแอลเอ จำกัดผู้นำด้านการผลิตโพลีแลคติคแอซิด (Poly Lactic Acid : PLA)ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ(PETROMAT) ประกาศผลผู้ชนะเลิศโครงการผลงานนวัตกรรม “Bioplastics Innovation Contest 2017” หรือโครงการค้นหานวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าพลาสติกชีวภาพ ภายใต้แนวคิดการใช้งานในวิถีชีวิตยุคใหม่และสังคมยั่งยืน สนับสนุนให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยีเพื่อการตลาดและเสริมสร้างจิตสำนึกในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหวังยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าและประยุกต์ใช้งานพลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติกในด้านต่างๆ พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของภูมิภาคเอเชีย
bioo1

รศ. ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) เปิดเผยว่า จากการที่โครงการได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ได้มีนักศึกษาจากหลายสถาบันให้ความสนใจและส่งผลงานเข้าร่วมประกวด โดยในขั้นสุดท้ายได้คัดเลือกผลงานนักศึกษาที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ารอบคัดเลือกรอบสุดท้ายจำนวน 5 ทีม คือ 1) ทีม “Go Grow Go Green” จาก Sirindhorn International Institute of Technology มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลงาน Green Bagging (Polylactic acid/Silica composite films)

2) ทีม “พฤหัสบดี” จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นำเสนอผลงาน Xtra Life by SWU 3) ทีม “อ้ายมา 4 คน” จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร นำเสนอผลงานผ้ากันเปื้อนย่อยสลายได้จาก PLA 4) ทีม CushPackจาก วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงาน PLA Composite for Foamed Packaging Cushion Application และ 5) ทีม Splint Printed FIN GNER จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นำเสนอผลงาน Sense Splint X SWU
bio3

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาผลงาน จะมุ่งเน้นไปที่การใช้งานให้เกิดคุณค่าในเชิงพาณิชย์ โครงการที่ส่งประกวดแต่ละโครงการ จะต้องมีพันธมิตรภาคธุรกิจเป็นผู้กำหนดคุณลักษณะเฉพาะ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ ซึ่งแต่ละทีมจะต้องคำนึงถึงและกำหนดมาว่าต้องการจะได้พันธมิตรภาคธุรกิจที่มีศักยภาพรายใดเข้ามาร่วมงานด้วย จากนั้นทางบริษัท ทอทาล คอร์เบี้ยน พีแอลเอ จำกัด และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุจะทำการจับคู่พันธมิตรให้เข้ามาร่วมกับโครงการที่ผ่านการคัดเลือกต่อไป

“ทางศูนย์ฯ คาดหวังว่าผลสำเร็จที่ได้จากโครงการนี้ จะได้รับการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ และได้รับร่วมมือกับภาคเอกชนจัดโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อไปอีกในอนาคต ซึ่งทางศูนย์ฯ มีพันธกิจหลักในการสร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ และพัฒนาต่อยอดเพื่อตอบสนองการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและวัสดุของประเทศ ให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน และรับผิดชอบต่อสังคม” ดร.หทัยกานต์กล่าว

ด้าน นายกัลย์ เฉลิมเกียรติกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ-พลาสติกชีวภาพ บริษัท ทอทาล คอร์เบี้ยน พีแอลเอ จำกัดกล่าวว่า ทางบริษัท ได้มีการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณท์ที่คำนึงถึงการรักษา สิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเร็วๆ ได้ทำการก่อสร้างโรงงานผลิต Polylactic Acid (PLA) ซึ่งเป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถทดแทนพลาสติกจากน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่นิคมอุตสาหกรรม Asia Industrial Estate อ.บ้านฉาง จ.ระยอง โดยเล็งเห็นถึงความพร้อมและคุ้มค่าด้านการลงทุนในประเทศไทย

bioo

โดยมีวัตถุดิบหลักที่ใช้คือ น้ำตาลจากอ้อย อุตสาหกรรมพลาสติก ที่เป็น“พลาสติกชีวภาพ” ได้เริ่มเป็นที่กล่าวถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องด้วยความสามารถพิเศษที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ โดยการใช้พืชผลทางการเกษตร เช่นอ้อยเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเม็ดพลาสติก ชีวภาพ ทำให้“พลาสติกชีวภาพ” กลายเป็นนวัตกรรมด้านพลาสติกที่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง

“จากความร่วมมือในการจัดการประกวดนวัตกรรมร่วมกับทาง PETROMAT จะก่อให้เกิดความตื่นตัว ให้กับทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชนเจ้าของแบรนด์ และ ภาคสถาบันการศึกษาร่วมมือกันคิดค้นทำการวิจัยสร้าง นวัตกรรมให้ภาคเอกชนได้นำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยคาดหวังว่า ด้วยหลักการ Bio Economy หรือ เศรษฐกิจฐานชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตร จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เร็วยิ่งขึ้น การจัดโครงการ Bioplastics Innovation Contest 2017 ในครั้งนี้ จึงเป็นหนึ่งในความพยายามของทุกภาคส่วนในการร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นายกัลย์ กล่าวทิ้งท้าย
bio2

โครงการ Bioplastics Innovation Contest 2017 หรือโครงการค้นหานวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าพลาสติกชีวภาพ ภายใต้แนวคิดการใช้งานในวิถีชีวิตยุคใหม่และสังคมยั่งยืน จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เยาวชน โดยเฉพาะนักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ สมัครเข้าร่วมโครงการทีมละไม่เกิน 7 คน โดยส่งผลงานความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นนวัตกรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงกับพลาสติกชีวภาพ อันเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท

ซึ่งทีมที่ชนะเลิศได้แก่ทีม “อ้ายมา 4 คน” จากมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยนำเสนอผลงานผ้ากันเปื้อนย่อยสลายได้จาก PLA ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารหรือแปรรูปอาหาร สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว