ทูซีทูพี จ่อเปิดบริการระบบ QR Gateway ช่องทางชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด สำหรับผู้ถือบัตรเครติดวีซ่า มาสเตอร์การ์ด มี.ค.นี้ ดึงพันธมิตร “บินไทย-เมเจอร์-ปณท-เมืองไทยประกันภัย-เซ็นทรัลออนไลน์” ร่วมให้บริการ แย้มคุย 2-3 แบงก์ ช่วยขยายบริการสู่ร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศ
นายปิยชาติ รัตน์ประสาทพร กรรมการบริหาร บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด (2C2P (Thailand) ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ หรือ ออนไลน์เพย์เมนต์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าบริษัทได้เตรียมเปิดบริการช่องทางชำระเงินผ่านระบบคิวอาร์ เกตเวย์ (QR Gateway) สำหรับผู้ถือบัตรเครดิตวีซ่า มาสเตอร์การ์ด ในเดือนมีนาคม 2561 นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบการทำงานของระบบในแซนด์บ็อกซ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุญาตให้บริการได้อีก 1-2 สัปดาห์นี้
[caption id="attachment_266095" align="aligncenter" width="335"]
ปิยชาติ รัตน์ประสาทพร[/caption]
“บริการดังกล่าวเป็นบริการที่เกิดขึ้นหลังบริการ QR Code ที่ผูกติดกับบัญชีธนาคาร และพร้อมเพย์ โดย ทูซีทูพี ถือว่าเป็นผู้ให้บริการชำระเงินผ่าน QR Code รายแรกที่รองรับการชำระเงินของผู้ถือบัตรเครดิตวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด ซึ่งขณะนี้คาดว่าไทยมีปริมาณบัตรเครดิตราว 20 ล้านใบ และมีจำนวนผู้ถือบัตรราว 10-12 ล้านคน”
สำหรับทิศทางการให้บริการดังกล่าวนั้นจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มร้านค้าออนไลน์ โดยจะมุ่งไปยังกลุ่มร้านค้าออนไลน์ ที่ใช้ระบบชำระเงินออนไลน์ของบริษัทอยู่แล้ว แต่ต้องการขยายไปสู่ช่องทางออฟไลน์ และ 2.กลุ่มออฟไลน์ ซึ่งในการทำตลาดกลุ่มออฟไลน์ ในการขยายการให้บริการไปยังร้านค้าทั่วประเทศนั้นบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นจะใช้วิธีการจับมือเป็นพันธมิตรกับธนาคาร ที่มีศักยภาพการในขยายตลาดไปยังร้านค้าทั่วประเทศ
โดยพันธมิตรที่จะเข้าร่วมให้บริการเบื้องต้น จะเป็นฐานลูกค้าที่เคยใช้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ของบริษัท ประกอบด้วย การบินไทย เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ เมืองไทยประกันภัย ไปรษณีย์ไทย และเซ็นทรัลออนไลน์ ขณะเดียวกันขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคาร 2-3 แห่ง เพื่อเปิดให้ธนาคารเข้ามาเชื่อมโยงระบบชำระเงินผ่านคิวอาร์ เกตเวย์ (QR Gateway) สำหรับผู้ถือบัตรเครดิตวีซ่า มาส เตอร์การ์ด
สำหรับรายได้ของบริษัทจะมาจากค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยสำหรับร้านค้านั้นจะคิดค่าธรรมเนียมราว 2.5-3.5% ส่วนธนาคารนั้น คิดตามปริมาณการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้น โดยอาจจัดเก็บประมาณ 1 บาทต่อ 1 ธุรกรรม หรือจัดเก็บในอัตราที่ตํ่ากว่าทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจา และปริมาณการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้น
นายปิยชาติ กล่าวต่อไปอีกว่าส่วนบริการดังกล่าวจะได้รับ ความนิยมเช่นเดียวกับ QR Code ที่ผูกกับบัญชีธนาคาร หรือไม่นั้นมองว่าต้องใช้เวลา โดยต้องให้ความ รู้กับตลาด ซึ่งที่ผ่านมา QR Code ที่ผูกกับบัญชีธนาคาร และบริการพร้อมเพย์นั้น ก็ให้การความรู้กับผู้บริโภคไประดับหนึ่งแล้ว ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวจะประสบความสำเร็จหรือไม่ มองว่าร้านค้า และธนาคาร จะเร่งจัดโปรโมชัน กระตุ้นให้เกิดการนำบัตรเครดิตผูกกับโมบายแบงกิ้ง ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม “คิวอาร์ เกตเวย์” นอกจากนี้ยังมองว่าช่องทางระบบชำระเงินออนไลน์จากเดิมโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเติบโตเป็นเลข 2 หลักทุกปี โดยมีรูปแบบการชำระค่าสินค้าและบริการ ผ่าน ทั้งบัตรเครดิต เดบิต และโอนเงิน เช่นเดียวกับช่องทางการชำระเงินใหม่ผ่านอี-วอลเล็ต ซึ่งมองว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของไทยในการก้าวสู่สังคมไร้เงินสด
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561