ผุดสมาร์ทซิตี ‘นครนนท์ 4.0’ มุ่งสู่เทคโนฯ GIS บริหารจัดการเมือง-บริการประชาชน

25 ต.ค. 2561 | 04:29 น.
      เทศบาลนครนนทบุรี กรุยทางสู่สมาร์ทซิตี “นครนนท์ 4.0” โชว์ไฮเทคประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจีไอเอส บูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่ วิเคราะห์และตัดสินใจแก้ปัญหาประชาชน เฟสแรกประเดิมให้บริการงาน 6 ด้านผ่านแอพพลิเคชัน คาดเดินหน้าเฟส 2 ต้นปีหน้า

นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าบริษัทมุ่งนำเทคโนโลยีแผนที่สารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ จีไอเอส (GIS: Geography Information System) ไปใช้ในการพัฒนาเมือง โดยล่าสุดได้พัฒนาระบบแผนที่สารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อการบูรณาการของข้อมูลเชิงพื้นที่ ช่วยในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ปัญหาของประชาชน ให้กับเทศบาลนครนนทบุรี ภายใต้ชื่อ “นครนนท์ 4.0” ซึ่งโครงการจ้างเหมาการให้บริการประชาชนด้วยระบบภูมิสารสนเทศผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ในโครงการระยะแรก (เฟส 1) เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเทศบาลนครนนทบุรีอยู่ระหว่างการอบรมเจ้าหน้าที่ เพื่อใช้งานระบบดังกล่าว ควบคู่กับการเริ่มต้นให้บริการประชาชน

[caption id="attachment_336932" align="aligncenter" width="386"] ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ธนพร ฐิติสวัสดิ์[/caption]

ทั้งนี้ภายใต้โครงการดังกล่าวบริษัทได้นำซอฟต์แวร์ ArcGIS แพลตฟอร์ม มาใช้ในการ บูรณาการของข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล และแก้ปัญหาต่างๆ ตลอดจนให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยสามารถระบุพิกัด หรือโลเกชัน ได้อย่างชัดเจน  โดยในเฟสแรกได้มีการพัฒนาระบบแผนที่สารสนเทศภูมิศาสตร์ ใช้กับงานให้บริการประชาชน 6 ด้าน  ประกอบด้วย 1.ระบบแจ้งปัญหาเรื่องร้องเรียน อาทิ ไฟดับ ไฟไหม้ อุบัติเหตุ, 2.ระบบงานติดตามโครงการ อาทิ สร้างถนน, 3.ระบบสวัสดิการและสังคม โดยเบื้องต้นจะใช้ดูแล และกำหนดสวัสดิการผู้สูงอายุ, 4.ระบบสาธารณสุข ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับโรงพยาบาล, อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) และผู้นำชุมชน ในการดูแลให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยนอนติดเตียง, 5.ระบบงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใช้แจ้งเหตุระบุตำแหน่ง หรือพิกัด พื้นที่ประสบภัย เพลิงไหม้ ตำแหน่งหัวจ่ายนํ้าดับเพลิง เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ  และระบบบูรณาการข้อมูลและ ArcGIS แพลตฟอร์ม

โดยประชาชนทั่วไปสามารถใช้สมาร์ทโฟน หรือแท็บเลต แจ้งเหตุร้องเรียนต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ซึ่งจะมีแอพพลิเคชั่นรองรับบริการต่างๆ 6 แอพพลิเคชัน โดยข้อมูลการแจ้งเหตุร้องเรียนต่างๆ  จะถูกส่งต่อข้อมูลมาที่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บัญชาการในการกระจายงานและติดตามผ่านจอแสดงผลแดชบอร์ด

นางสาวธนพร กล่าวต่อไปอีกว่าเทศบาลนครนนทบุรี มีความต้องการเปลี่ยนข้อมูลทั้งหมด ทั้งข้อมูลบริหารจัดการ และข้อมูลบริการประชาชน ไปสู่ดิจิตอล เพื่อยกระดับไปสู่เมืองสมาร์ทซิตี ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างหารือกับเทศบาลนครนนทบุรี เพื่อดำเนินการโครงการระยะ 2 โดยจะมีการบูรณการระบบเข้ากับงานด้านที่ดิน แผนที่ภาษี กิจการนักเรียน การบริหารจัดการสถานศึกษาสังกัดเทศบาล งานด้านบริการประชาชน เช่น ตัดกิ่งไม้ หรือ ซ่อมถนน รวมถึงบริการด้านสาธารณสุข ที่เพิ่มงานด้านสุขาภิบาลเข้าไป เพื่อให้บริการที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการโครงการระยะ 2 ได้ประมาณต้นปีหน้า

อนึ่งเทศบาลนครนนทบุรี เป็นเทศบาลชั้น 1 ก. มีพื้นที่ในเขตเทศบาลรวม 38.9 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เขตเทศบาลประกอบด้วย 5 ตำบล คือ ตำบลสวนใหญ่ ตำบลตลาดขวัญ ตำบลบางเขน ตำบลบางกระสอ และตำบลท่าทราย และมีประชาชน  255,167 คน (อัพเดตล่าสุด 1 ตุลาคม 2561)

นางสาวธนพร กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้เริ่มมีความร่วมมือและความต้องการทางด้านจีไอเอสมากขึ้นจากหลากหลายเทศบาล ซึ่งยังอยู่ในช่วงแรกของการเริ่มเจรจากัน โดยเฉพาะจังหวัดรอบข้างกรุงเทพมหานครให้ความสนใจกับโซลูชันดังกล่าว เพื่อการพัฒนางานภาคบริการประชาชน ปรับกระบวนการทำงานภายในหน่วยงานให้เป็นดิจิตอลมากขึ้น ซึ่งการลงทุนโซลูชันดังกล่าวนั้นมีวงเงินลงทุนตั้งแต่ระดับหลักแสนถึงล้านบาทขึ้นอยู่กับความต้องการของหน่วยงาน

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,412 ระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2561

595959859