พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. รับเป็นเจ้าภาพเดินหน้าเสนอแผนขับเคลื่อนนำสายสื่อสารลงดิน โดยมีแผนบริหารจัดการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) เพื่อให้เมืองมีทัศนียภาพสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง ไม่ว่าจะเป็น สายไฟฟ้าและสายสื่อสาร
ดังนั้น กทม. จึงได้หารือร่วมกับ กสทช. และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม อาทิ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) รวมถึงการไฟฟ้านครหลวง เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารให้เรียบร้อย
สำหรับการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินนั้น กทม. ได้มีการแยกแผนดำเนินการออกจากแผนการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เนื่องจากปัญหาสายสื่อสารระโยงระยาง รกรุงรัง เป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นต้องดำเนินการในทันที อีกทั้งลักษณะการก่อสร้างเพื่อวางท่อร้อยสายสื่อสารและสายไฟฟ้ามีความแตกต่างกัน โดยการนำสายสื่อสารลงใต้ดินจะดำเนินการขุดวางท่อร้อยสายบนทางเท้า ที่ความลึกประมาณ 80 เซนติเมตร ความกว้างไม่เกิน 40 เซนติเมตร ในขณะที่ ท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวงจะเป็นการขุดวางใต้ผิวจราจร ที่ระดับความลึกประมาณ 4 เมตร ซึ่งมีความยุ่งยากกว่า
นอกจากนี้ บริษัท กรุงเทพธนาคมฯ จะดำเนินการก่อสร้างเพื่อวางท่อร้อยสาย โดยนำเทคโนโลยีท่อร้อยสาย (Micro duct) จำนวนตั้งแต่ 14-21 ไมโครดัก ซึ่งมีความแข็งแรงทนทานและเป็นมาตรฐานเดียวกับมหานครอื่น ๆ ทั่วโลก มาใช้ในการดำเนินการบนถนนสายหลักและสายรองทั่วกรุงเทพฯ รวมระยะทางประมาณ 2,450 กิโลเมตร
แบ่งการดำเนินการเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพตอนเหนือ กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ โดยจะมีการสำรวจและออกแบบโครงข่าย โดยจะเริ่มก่อสร้างและติดตั้งโครงข่ายในเดือน พ.ค. 2562 และคาดว่าจะนำสายสื่อสารลงใต้ดินแล้วเสร็จทั้งโครงการภายใน 2 ปี เพื่อให้ภูมิทัศน์เมืองเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และเกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน ซึ่งในอนาคต หากมีการขยายถนนเพิ่มเติม บริษัท กรุงเทพธนาคม จะดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายใต้ดินไปพร้อม ๆ กัน