ไมโครซอฟท์ชูศักยภาพ AI ขับเคลื่อนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก พร้อมเน้นตัวอย่างความสำเร็จจากโครงการ “AI for Earth” ที่มอบทุนวิจัยให้กับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้วกว่า 236 โครงการใน 63 ประเทศ พร้อมเปิดให้ยื่นโครงการขอทุนได้แล้วถึง 9 ก.ค. 62
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโคร ซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าตลอดรอบปีที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนต่างก็ให้ความสนใจในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) กันอย่างมาก โดยมุ่งเน้น ไปที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก แต่ที่จริงแล้ว AI ยัง สามารถทำอะไรได้อีกมากให้ กับมนุษย์ โดยล่าสุดไมโครซอฟท์ ได้เปิดให้ทีมวิจัยจากทั่วโลก รวมถึงไทยสามารถยื่นขอการสนับสนุนทุน ภายใต้โครงการ “AI for Earth” ที่มีจุดมุ่งหมาย นำนวัตกรรม AI และคลาวด์มาเติมศักยภาพให้ทีมวิจัย สถาบันการศึกษา และองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม สามารถเฝ้าสังเกตการณ์ จำลอง คาดการณ์ บริหารจัดการ และปกป้องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและระบบนิเวศต่างๆ ได้ด้วยวิธีการใหม่ๆ หรือประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
โดยพิจารณามอบทุนวิจัยในรูปของทรัพยากรคลาวด์บนแพลตฟอร์ม ไมโคร ซอฟท์ อาซัวร์ ให้กับโครงการวิจัยเชิงสิ่งแวดล้อมใน 4 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่ เกษตรกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ และทรัพยากรนํ้า โดยโครงการ AI for Earth จะมีการพิจารณาอนุมัติปีละ 4 ครั้ง สำหรับการพิจารณาอนุมัติรอบต่อไป จะปิดรับการยื่นรายละเอียดโครงการในวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เวลา 13.59 น.
“AI for Earth เป็นโครงการระดับโลกที่เปิดให้ทีมวิจัย องค์กร และสถาบันจากทั่วทุกมุมโลกได้มีโอกาสเสนอแนวคิดใหม่ๆ ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อปกป้องโลกให้รักษาไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ และทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนของทั้งมนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตนานาชนิดบนโลกใบนี้”
นายธนวัฒน์ กล่าวต่อไปว่าที่ผ่านมา AI for Earth ได้มอบทุนวิจัยให้กับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้วกว่า 236 โครงการใน 63 ประเทศ โครงการสำคัญเช่น องค์กรการ กุศล Sustainable Coastlines จากประเทศนิวซีแลนด์ ได้มุ่งทำงานเพื่อแก้ปัญหาขยะในท้องทะเลมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ทั้งในนิวซีแลนด์เองและประเทศอื่นๆ ตามแนวฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และด้วยพลังจาก AI สามารถพัฒนาโซลูชันใหม่ที่ช่วยให้ทุกภาคส่วนทำความเข้าใจในปริมาณ และแนวโน้มสถานการณ์ขยะในพื้นที่ชายหาดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
Wild Me องค์กรไม่แสวงผลกำไรจากสหรัฐฯ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มและแอพพลิเคชัน Wildbook ขึ้น เพื่อให้ นักวิจัยและอาสาสมัครทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการปกป้องและติดตามสัตว์ป่าที่ใกล้สูญ พันธุ์ ด้วยระบบ AI และคลาวด์ ที่สามารถตรวจจับ จดจำ และ ติดตามลักษณะเฉพาะของ สัตว์แต่ละตัว เช่นสี ลายบนผิวหนัง โทนเสียง และอื่นๆ ผ่านทางข้อมูลภาพ และเสียงที่บันทึกโดยใครก็ตามที่ได้พบเห็นสัตว์ตัวนั้น โดยระบบจะใช้ ข้อมูลที่ทุกคนร่วมกันเก็บจากพื้นที่จริงมาช่วยในการติดตาม เก็บข้อมูล วิเคราะห์พฤติกรรม และสนับสนุนการ ปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ต่อไป
ส่วน FarmBeats นำข้อมูลจากอุปกรณ์เซ็นเซอร์มากมายมาเก็บข้อมูลจากพื้นที่ทำการเกษตร นับตั้งแต่ตัวตรวจวัดความชื้น สารอาหาร และอุณหภูมิในหน้าดิน ไปจนถึงภาพถ่ายทางอากาศ ข้อมูลสภาพอากาศในพื้นที่ และอื่นๆ มาวิเคราะห์ด้วยระบบ machine learning เพื่อสรุปออกมาเป็นคำแนะนำให้เกษตรกรวางแผนการปลูกและเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ให้ได้ผลผลิตดีที่สุด
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3468 ระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2562