บทความโดย: พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานคณะกรรมการกิจหารกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย
โลกในปัจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแบบอัตราเร่ง ทำให้การพัฒนาทักษะความสามารถของมนุษย์ในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม ไม่สามารถตามทันความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ ทำให้องค์ความรู้ในวันนี้อาจจะล้าสมัยได้เพียงชั่วข้ามคืน ดังนั้นมนุษย์จึงต้องมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลได้มีเนื้อหาที่มีคุณภาพสูงเกิดขึ้นมากมาย มีการนำเสนอในรูปแบบดิจิทัล ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายทุกที่ทุกเวลา ทำให้ผู้คนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ความเป็นจริงเหล่านี้บังคับให้รัฐบาลและภาคเอกชนต่างๆ ทั่วโลก ต้องคิดใหม่เกี่ยวกับวิธีการจัดการอาชีพและมอบโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา (Learning and Development : L&D) ให้แก่ประชาชนและบุคลากรขององค์กร
ปัจจุบันองค์กรชั้นนำกำลังเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล ถึงแม้ว่าองค์กรส่วนใหญ่จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ตาม ซึ่งปัญหาในเรื่องการปรับปรุงทักษะในการทำงานและการเปลี่ยนการเรียนรู้ขององค์กรได้กลายเป็นแนวโน้มที่สำคัญที่สุด ระบบการจัดการการเรียนรู้แบบดั้งเดิมจะถูกพัฒนาและแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่หลากหลาย สำหรับการจัดการเนื้อหา การส่งมอบ การเผยแพร่ และการใช้งาน ดังนั้นรูปแบบการเรียนรู้แบบเปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่ายผ่านแพลตฟอร์มโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันให้ผู้คนสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จขององค์กรธุรกิจได้ในที่สุด
ในรายงาน 2017 Global Human Capital Trends ของ deloitte ระบุว่าองค์กรส่วนใหญ่กำลังเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการทำงานที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้เกิดงานที่มีคุณภาพมากขึ้นและสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่ามากกว่าความก้าวหน้าในอาชีพ โดยผู้บริหารส่วนใหญ่เชื่อว่าบริษัทของพวกเขากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งเกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยผู้บริหารระดับสูงมากกว่าครึ่งระบุว่าองค์กรของพวกเขายังไม่มีทักษะในการปรับตัว จากข้อสังเกตนี้ได้สะท้อนถึงความจริงที่ว่ามีบางตำแหน่งงาน อย่างเช่น วิศวกรซอฟต์แวร์จะต้องพัฒนาทักษะใหม่ทุกๆ 12-18 เดือน ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด การขาย การผลิต กฎหมาย การบัญชีและการเงิน ก็จำเป็นจะต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอเช่นเดียวกัน
องค์กรชั้นนำจำนวนมากกำลังใช้ยุทธศาสตรการเรียนรู้แบบไดนามิกเพื่อช่วยให้พนักงานมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้ อย่างเช่น AT&T ที่ได้ลงทุน 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในโครงการด้านการศึกษาและการพัฒนา สำหรับพนักงาน 140,000 คน เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถในการทำงาน เนื่องจากบริษัทมีความคิดเห็นว่าบุคลากรเหล่านี้จะเปลี่ยนบทบาททุกสี่ปี
รูปแบบการเรียนรู้แบบไดนามิกนั้นมีความยืดหยุ่น และสามารถสร้างการมีส่วนร่วม เนื่องจากผู้เรียนสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น การคำนวณ การสนทนา การตอบคำถาม และเกมภายในโปรแกรม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาโดยรวมของแต่ละบุคคล โดยมุ่งเน้นไปที่ผลการเรียนการสอน ซึ่งทำให้ผู้เรียนได้รับทักษะใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยเนื้อหาที่ปรับแต่งได้แบบเฉพาะตัว (customizations) จะช่วยให้ผู้สอนสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ส่วนบุคคลให้กับผู้เรียนได้ การเรียนรู้ส่วนบุคคล (Personalized learning) นี้ ทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ เนื่องจากจะคำนึงถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของผู้เรียน
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน อย่างเช่น conversational computing, virtual reality (VR) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้นักการศึกษา สามารถปลดล็อกวิธีการใหม่ในการส่งมอบเนื้อหาการเรียนรู้แบบไดนามิก ออกแบบหลักสูตรและเนื้อหาได้อย่างรวดเร็ว โดยจะเน้นความต้องการของผู้เรียนมากขึ้น และคำนึงถึงผู้เรียนประเภทต่างๆ อย่างเช่นการนำเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning) ของ AI มาใช้ในการส่งมอบเนื้อหา เนื่องจากเทคโนโลยีนี้จะขับเคลื่อนโดยข้อมูลของผู้ใช้ จึงทำให้ AI กลายเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสำหรับการมีส่วนร่วมของผู้เรียนในแบบไดนามิก ตัวอย่างเช่น การทดสอบที่อาจคำนึงถึงคำตอบของผู้เรียน เพื่อพิจารณาข้อคำถามต่อไป หรือเพื่อปลดล็อคบทเรียนถัดไป
เทคโนโลยีใหม่ทำให้เนื้อหามีคุณภาพสูงขึ้น ผู้เรียนสามารถเรียนได้ฟรีหรือจ่ายเงินไม่แพง ซึ่งจะทำให้องค์กรและพนักงานสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือเช่น YouTube และเนื้อหาการเรียน อย่างเช่น Khan Academy, Udacity, Udemy, Coursera, NovoEd, edX ฯลฯ ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา ล้วนสร้างความสะดวกให้ผู้คนสามารถเข้าถึงทักษะใหม่ๆ ได้ง่ายเพียงแค่คลิกเมาส์เท่านั้น
เนื้อหาที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างต่อเนื่องยังทำให้บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันในเรื่องรูปแบบการเรียนรู้และการพัฒนา บริษัทชั้นนำได้มีการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น GE ที่สร้าง Brilliant U ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ที่มีการแชร์วิดีโอ และให้การเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยพนักงานทั่วทั้งองค์กร ซึ่งพบว่าในปีแรก พนักงาน GE กว่า 30% ได้ทำการพัฒนาเนื้อหาและแบ่งปันเนื้อหากัน
การเกิดขึ้นของการเรียนรู้แบบไดนามิกสามารถพิสูจน์ได้ว่าเนื้อหาการเรียนรู้จะเป็นแบบเฉพาะบุคคลมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่ความต้องการของผู้เรียนมากกว่าผู้สอน รูปแบบการเรียนรู้แบบไดนามิกยังทำให้เกิดสถานการณ์แบบ win-win ทั้งผู้เรียนและผู้สอน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมีลักษณะเนื้อหาแบบเฉพาะบุคคล
แต่ระบบการจัดการเรียนรู้ของบริษัทส่วนใหญ่มักจะเป็นระบบดั้งเดิมอยู่ และมีความท้าทายอย่างมากในการใช้งาน ซึ่งในปัจจุบันผู้นำตลาดอย่างเช่น Degreed, Pathgather, EdCast, Grovo และ Axonify ได้นำเครื่องมือการเรียนรู้ใหม่ๆ มาใช้ ทำให้มีการนำเสนอเนื้อหารูปแบบใหม่ และโซลูชั่นการเรียนรู้บนโทรศัพท์เคลื่อนที่และวิดีโอ เกิดรูปแบบการเรียนรู้การเรียนรู้แบบ Micro-Learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ใช้เวลาสั้นๆ เช่น การดูคลิปวีดิโอที่ความยาวเพียง 2-3 นาที การอ่านบทความสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าการเรียนรู้แบบ Micro-Learning จะเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากใช้เวลาเรียนรู้ไม่นาน และผู้เรียนยังสามารถเลือกเฉพาะหัวข้อที่สนใจ นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมาและถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รูปแบบการทำงาน รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ อย่างเช่น การเรียนรู้เนื้อหาบนสื่อสังคมออนไลน์ การเรียนรู้บนโทรศัพท์เคลื่นอที่ การการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) เรียนรู้ในโลกเสมือนจริง การเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยเกม และการเรียนรู้โดยลงมือปฏิบัติ เป็นต้น