มธ.ผนึกESRIปั้นคนรับอสังหาฯยุคไฮเทค

28 ต.ค. 2562 | 08:55 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2562 | 12:03 น.

อีเอสอาร์ไอผนึกกำลัง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดอาวุธบุคคากรคุณภาพ ตอบรับเทรนด์ธุรกิจอสังหาฯก้าวสู่ยุคแห่งการใช้เทคโนโลยี โดยการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) บรรจุในหลักสูตรปริญญาโท ภาควิชาอสังหาริมทรัพย์ ในวิชา “เทคโนโลยีกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ชี้เป็น 1 ในทักษะที่มีความต้องการสูงสุดในตลาดแรงงาน ตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้าน GIS สู่แวดวงอสังหาฯเพิ่มกว่า 100 คน ต่อปี

มธ.ผนึกESRIปั้นคนรับอสังหาฯยุคไฮเทค

 

นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ติดอันดับ 1 ในทักษะที่มีความต้องการสูงสุดในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน GIS โดยจะเห็นได้จากผลสำรวจของ Market Research Engine พบว่า ตลาด GIS ทั่วโลกจะมีมูลค่าเกินกว่า US $  11.2 พันล้าน หรือ 336 พันล้านบาท ภายในปี 2567 การขยายตัวดังกล่าวส่งผลให้ตำแหน่งงาน GIS ในเว็บไซต์ Indeed.com เป็นที่ต้องการถึง 11,000 ตำแหน่ง ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

“จากปัจจัยดังกล่าว ทางบริษัทฯ จึงร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ GIS บรรจุในหลักสูตรปริญญาโท ภาควิชาอสังหาริมทรัพย์ ในวิชา เทคโนโลยีกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยจะเน้นการเรียนการสอนไปที่การทำความรู้จักกับเทคโนโลยี GIS ArcGIS Pro, การวิเคราะห์ด้วย ArcGIS Pro, Site Selection การวิเคราะห์ทำเลที่เหมาะสมสำหรับด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เพื่อมุ่งสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและขีดความสามารถในการผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมอสังหาฯ ซึ่งถือเป็นกลไกลสำคัญของเศรษฐกิจ” นางสาวธนพรกล่าว

 

นางสาวธนพรกล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรดังกล่าวได้เริ่มเปิดสอนแล้ว โดยเป็นการบรรยายเกี่ยวกับ GIS นับเป็น 6 คลาสเรียน ต่อ 1 คอร์ส จากทั้งหมด 14 คลาสเรียน โดยมีเนื้อหาการบรรยายคือ แนะนำระบบภูมิสารสนเทศ การใช้งานซอฟต์แวร์ ArcGIS การนำเข้าข้อมูล การสร้างข้อมูลเชิงพื้นที่ การสร้างเว็บแอปพลิเคชันสำหรับการติดตาม แก้ไขข้อมูลแปลงที่ดิน การประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อวางแผน จัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ การวิเคราะห์เชิงพื้นที่เพื่อหาความเหมาะสมกับข้อมูลประชากร (Suitability Analysis) การวิเคราะห์เชิงพื้นที่เพื่อหาความเหมาะสมของที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ การใช้เครื่องมือภูมิสารสนเทศ

 

เพื่อสร้างแผนที่ และจัดทำระวางแผนที่ และส่งออกข้อมูลในรูปแบบตาราง การสร้าง Operations Dashboard เพื่อสรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบของกราฟต่าง ๆ โดยหลังเปิดหลักสูตร พบบุคลากรสายงานอสังหาฯ สนใจสมัครเรียนแล้วถึง 79% นักศึกษาทั่วไป 11% และคนที่ทำงานสาขาอื่น 10% ตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้าน GIS สู่แวดวงอสังหาฯเพิ่มกว่า 100 คน ต่อปี

มธ.ผนึกESRIปั้นคนรับอสังหาฯยุคไฮเทค

 

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. พิภพ อุดร คณบดี คณะพาณิชย ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากกับวงการอสังหาฯ ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ระดับประเทศก็ใช้เทคโนโลยีมาขับเคลื่อน ด้านการศึกษา การนำเทคโนโลยี GIS มาปรับเข้ากับการเรียนการสอน เป็นโอกาสที่ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสลงมือจริง ได้ใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาใช้งานจริง ไม่จำเป็นต้องออกไปข้างนอกหรือลงเห็นสถานที่จริง เป็นการลดต้นทุนในเรื่องของเวลา เพิ่มศักยภาพในการใช้เทคโนโลยี หรือเครื่องมือ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการเพิ่มมูลค่าของผู้เรียนในสภาพการแข่งขันของธุรกิจและแรงงานคน ซึ่งนำไปต่อยอดสำหรับการทำงานในอนาคตได้จริง

 

“ภาควิชาเทคโนโลยีกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดการเรียนการสอนมาแล้ว 30 ปี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนอยู่เสมอ และการตัดสินใจนำเทคโนโลยี GIS เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนในครั้งนี้ เพื่อปูทางสู่การเรียนการสอนแบบลงมือปฏิบัติจริง practical learning มากยิ่งขึ้น โดยมองเห็น 3 สิ่งสำคัญคือ Innovative, Practical, Connected. ความร่วมมือในครั้งนี้ช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากข้อมูลเรียลไทม์ ในแบบจำลองที่เสมือนจริง เสมือนได้ทำงานจริง เห็นปัญหาและการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง นำมาสู่ความคิดที่เป็น Innovative กล้าคิด กล้าทำ ลงมือทำจริง เกิดเป็น Practical Knowledge และส่งผลให้เค้าเหล่านี้เป็นตัวเชื่อมระหว่างภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และสังคม ในภาพกว้าง คือการสร้างสรรค์ผลงานจากความรู้ ที่มีประสิทธิภาพต่อการดำเนินงาน และส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมต่อไป” ดร. พิภพกล่าว

 

อย่างไรก็ดี ผลตอบรับจากคนที่ได้เรียนหลักสูตรดังกล่าว ผู้เรียนได้มีการนำความรู้จากการใช้เทคโนโลยี GIS ไปใช้กับการทำงานที่แท้จริง ซึ่งไม่เพียงแค่นักศึกษาภาควิชานี้ ที่จำเป็นต้องเรียนรู้เทคโนโลยี แต่ทุกคนสามารถเปิดรับและเรียนรู้ได้ หากการนำเทคโนโลยีมาอยู่ในการศึกษาได้ เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเชื่อมต่อข้อมูล บูรณาการ และสร้างนวัตกรรม เพิ่มพูนศักยภาพธุรกิจ และเชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อนำไปสู่การเป็น Better Society ซึ่งทั้งหมดนี้ เริ่มต้นจากการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในภาคการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากร ต่อยอดสู่ความยั่งยืนของสังคม ดร. พิภพกล่าวทิ้งท้าย