รับมืออย่างไร หลัง ‘Alibaba’ เปิดศูนย์กระจายสินค้า

06 พ.ย. 2562 | 09:29 น.

      หลังจากเมื่อปีที่แล้วประเทศไทยมีข่าวขายทุเรียนให้ชาวจีนผ่านช่องทางออนไลน์อย่างครึกโครม เบื้องหลังความโด่งดังนี้มาจาก อาลีบาบา (Alibaba) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในประเทศจีน นำโดย แจ็ค หม่า (Jack Ma) อดีตประธานบริหารอาลีบาบากรุ๊ป ที่โลดแล่นอยู่ในวงการอีคอมเมิร์ซกว่า 20 ปี   ซึ่งการที่ แจ็ค หม่า หรือ อาลีบาบา เข้ามาเคลื่อนไหวยังประเทศต่างๆ ย่อมเป็นกระแสเรียกความสนใจได้ในระดับชาติ  ปัจจุบันตำแหน่งประธานบริหาร ได้ส่งไม้ต่อให้กับ เดเนียล จาง หัวหน้าทีม Ant Financial ที่กุมตำแหน่ง CEO ประธานกรรมการบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป แทน
  
รู้จักอาลีบาบา
     อาลีบาบา (Alibaba) คือ อาณาจักรอีคอมเมิร์ซจีนที่มีธุรกิจในเครือทั้ง ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง สื่อและบันเทิง เทคโนโลยีและนวัตกรรมอื่นๆ อย่างไรก็ตามอีคอมเมิร์ซยังเป็นธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ให้กับอาลีบาบา โดยมีทั้งโมเดลค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งมีทั้งในประเทศเอง และแบบข้ามพรมแดน อาทิ Alibaba, 1688, Taobao, AliExpress, Tmall, และ Lazada รวมถึง เหอหม่า (Hema Stores) ซูเปอร์มาร์เก็ตไร้เงินสดที่ผสานโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าไว้ด้วยกัน โดยวิธีการชำระเงินจะต้องมีแอพฯของเหอหม่าก่อน เพื่อที่จะเชื่อมต่อกับ อาลีเพย์ (Alipay) อีกหนึ่งในธุรกิจของอาลีบาบา นอกจากนี้ยังมีบริการด้านโลจิสติกส์ (Logistics) ที่อาลีบาบาเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม นั่นก็คือ ไช่เหนี่ยว (Cainiao Network) โดยวางแผนให้เป็น Global Hub ในการขยายการค้าข้ามพรมแดนให้กว้างไกลขึ้น เบื้องต้นมีอยู่ 5 แห่ง ได้แก่ หางโจว-จีน ดูไบ-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กัวลาลัมเปอร์-มาเลเซีย ลีเกอ-เบลเยี่ยม และมอสโก-รัสเซีย

 

ไทม์ไลน์ก่อนจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในไทย
        ก่อนหน้านี้ เมื่อเมษายน ปี 2561  การมาเยือนไทยของ แจ็ค หม่า เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างอาลีบาบา และรัฐบาลไทยในการลงทุนพื้นที่ EEC หรือ Eastern Economic Corridor ใจความสำคัญจะเป็นความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ Smart Digital Hub เพื่อช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพ และ SME ไทย พร้อมขยายช่องทางการขายข้ามพรมแดนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) โดยอาศัยเทคโนโลยีจากอาลีบาบา   รวมถึงลงนามซื้อขายทุเรียนมูลค่า 428 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 13,000 ล้านบาท ซึ่งไม่กี่วันถัดมาไฮไลท์สำคัญก็คือ อาลีบาบาช่วยเกษตรกรไทยขายทุเรียน 80,000 ลูกใน 1 นาที ด้วยการจำหน่ายทุเรียนพันธุ์หมอนทองผ่านเว็บไซต์ Tmall  

- มิถุนายน ปี 2561 อาลีบาบาประกาศความร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย ด้วยการเปิดสำนักงานของอาลีบาบาในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่ต้องการผลักดันให้เกิด eWTP (Electronic World Trade Platform) แห่งแรกที่ตั้งอยู่นอกประเทศจีน  
- สิงหาคม ปี 2562 อาลีบาบาตัดสินใจลงทุนหมื่นล้านจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ไขข้อข้องใจศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะ
      การเข้ามาตั้งศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะของอาลีบาบา ถือเป็นการลงทุนโครงการหนึ่งใน EEC เท่านั้น มีการคาดหวังว่าการเข้ามาของอาลีบาบาจะช่วยกระตุ้นการค้า การลงทุน ให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อีกทาง โดยประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งอาณาเขตเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ รวมถึงติดกับมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ด้านการขนส่งทั้งทางเรือ และรถไฟความเร็วสูงในอนาคตได้อีกด้วย ซึ่งศูนย์กระจายสินค้าตั้งอยู่ใน EEC ขนาด 200,000 ตารางเมตร  โดยกรณีการเข้ามาลงทุน 13,480 ล้านบาท ในครั้งนี้เป็นการถือครองที่ดินตามปกติ และไม่ได้รับสิทธิ์การยกเว้นภาษี 13 ปี เหมือนที่หลายๆฝ่ายกังวลกัน ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ที่อาลีบาบาจะได้จากการเข้ามาลงทุนใน EEC คือ การชำระภาษีศุลกากร ทุก 14 วัน โดยจากเดิมที่ต้องชำระทุกวัน ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มักมีการเปลี่ยนคืนสินค้าหากไม่พึงพอใจ ภายใน 14 วัน

ความท้าทายของอีคอมเมิร์ซไทยหลังเปิดรับอาลีบาบา
    ข่าวการเข้ามาของอาลีบาบากลายเป็นกระแสความวิตกกังวลของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อค้าคนกลาง ซึ่งปกติอาศัยการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมาขายให้กับผู้บริโภคชาวไทย แต่การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าของอาลีบาบาในไทยยิ่งเป็น การเพิ่มสินค้า Cross Border ให้ทะลักเข้ามาจำนวนมหาศาล (ข้อมูลจาก Priceza) ที่ได้ทำการเก็บข้อมูลของสินค้าจากต่างประเทศ (Cross Border) เปรียบเทียบกับ สินค้าภายในประเทศ (Local) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2562 พบว่า ในแพลตฟอร์ม Priceza มีสัดส่วนสินค้า Cross Border 58% ในขณะที่มีสินค้า Local 42% จากจำนวนสินค้าราวๆ 50 ล้านชิ้น โดยสินค้า Cross Border ส่วนใหญ่นั้นเป็นสินค้าจากประเทศจีน นอกจากนี้ประเด็นภาษี  เมื่ออาลีบาบามาตั้งศูนย์กระจายสินค้าใน EEC กลายเป็นว่าอาลีบาบาสามารถนำสินค้าเข้ามาล็อตใหญ่ ซึ่งจะถือว่าอยู่ในเขตปลอดอากรสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท จะไม่เสียภาษีนำเข้าและ Vat จากเดิมที่ต้องมีพ่อค้าคนกลาง ตอนนี้สินค้าจีนมาขายถึงมือผู้บริโภคได้โดยตรงผ่านเว็บไซต์อีมาร์เก็ตเพลสในเครืออย่าง ลาซาด้า (Lazada)  

รับมืออย่างไร หลัง ‘Alibaba’ เปิดศูนย์กระจายสินค้า
อีกทั้งการจัดส่งสินค้าทำได้รวดเร็วขึ้น  หากมองลงไปในด้านโลจิสติกส์ ซึ่งปัจจุบัน ลาซาด้า มี LEX หรือ Lazada Express eLogistics ในการขับเคลื่อนการขนส่งสินค้าในประเทศไทยแล้ว คงจะละเลย ไช่เหนี่ยว ไปเสียไม่ได้ หากจะสร้างให้เป็น Global Hub เป็นไปได้ว่า ไช่เหนี่ยว จะต้องมีที่ EEC ด้วยเช่นกัน. 
       อย่างไรก็ตามระบบนิเวศอาลีบาบา ไม่ได้มีผลต่ออีคอมเมิร์ซเท่านั้น  ยังมีเรื่องของ ระบบการชำระเงิน (E-Payment) ระบบขนส่ง (E-Logistics) เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเสมอ ซึ่งธุรกิจของอาลีบาบาเองนั้นเรียกได้ว่าครอบคลุมทั้งระบบชำระเงินอย่าง อาลีเพย์ ระบบขนส่งอย่างไช่เหนี่ยว หากระบบนิเวศไม่สมดุล เรียกได้ว่าเกิดการผูกขาดตลาดเจ้าใดเจ้าหนึ่ง (Monopoly) จะเกิดการต่อรองและมีอิทธิพลมากเกินไป ดังนั้น เมื่อหลายธุรกิจของอาลีบาบาเข้ามาในไทย สิ่งสำคัญที่ภาครัฐ และภาคเอกชน จะต้องคำนึงถึงคือการสร้างตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition Market) ซึ่งในตลาดจะต้องมีผู้เล่นหลายรายเพื่อแข่งขันกันได้อย่างเสรี

รับมืออย่างไร หลัง ‘Alibaba’ เปิดศูนย์กระจายสินค้า
 
ผู้ประกอบการไทยเดินเกมต่ออย่างไร
        การเข้ามาของอาลีบาบาอาจไม่ได้ส่งผลดีทั้งหมดกับผู้ประกอบการไทยที่ปัจจุบันนอกจากจะต้องแข่งขันกันเองแล้ว ยังจะต้องแข่งขันกับต่างชาติที่เข้ามาลงทุน  การปรับตัวเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยพึงมี โดยที่สินค้าต้องมีคุณภาพและเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำใคร  

รับมืออย่างไร หลัง ‘Alibaba’ เปิดศูนย์กระจายสินค้า      แล้วกรณีพ่อค้าคนกลางจะทำอะไรได้บ้าง ข้อมูลของ Priceza เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา อ้างถึงประเภทสินค้า Cross Border และ Local ที่ขายอยู่ในมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ในไทย พบว่า ประเภทสินค้าที่มีจำนวนสินค้ามากที่สุด ได้แก่  1. สินค้ากลุ่มกีฬา 2. สินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยง 3. เครื่องประดับ 4. อะไหล่ยานยนต์ 5. สินค้าเพื่อความบันเทิงภายในบ้าน ทั้งนี้หากพ่อค้าคนกลางมีแนวคิดที่จะหาสินค้ากลุ่มดังกล่าวมาขายแข่งกับสินค้า Cross Border คงจะต้องใช้กลยุทธ์เรื่องราคา และการบริการเข้ามาร่วมด้วย แต่ถ้าลองหาสินค้าที่ยังมีจำนวนไม่มากมาขายบนมาร์เก็ตเพลสบ้าง  เพียงเลือกประเภทสินค้าที่ Cross Border ยังเข้ามาตีตลาดไม่ได้เท่านั้น นอกจากนี้ควรเพิ่มบริการ เพิ่มมูลค่า สร้างความประทับใจ และมีช่องทางการขายที่ครอบคลุม

    สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังมองหาโอกาสและแนวทางในการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับแนวโน้มสถานการณ์ตลาดอีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน สามารถติดตามงานสัมมนาที่จะช่วยตอบคำถาม และชี้ทิศทางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ที่งาน Priceza E-Commerce Summit 2020 หรือ www.priceza.com/insights/e-commerce-summit-2020

ที่มา :  Priceza Insights