ผู้นำองค์กรธุรกิจการแพทย์ 70% มองเทคโนโลยี-นวัตกรรมใหม่ ส่งผลกระทบรับมือยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน “เนทติเซนท์” สบช่องพัฒนาซอฟต์แวร์อีอาร์พี เวอร์ชัน Netizen Peony เจาะกลุ่มธุรกิจเฮลธ์แคร์ หวังยกระดับบริการการแพทย์สู่โรงพยาบาลอัจฉริยะ
นายกฤษดา สาธุกิจชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนทติเซนท์ จำกัด (Netizen) ผู้ให้บริการคำปรึกษาการวางระบบซอฟต์แวร์การบริหารจัดการทางธุรกิจ ERP (Enterprise Resource Planning) เปิดเผยว่า บริษัทกว่า 78% กำลังมุ่งทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล และผู้นำองค์กร 93% ประกาศวิชันให้บุคลากรปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล ในขณะที่ผู้นำองค์กรทางการแพทย์กว่า 70% มองว่ายุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันกำลังส่งผลต่อวงการแพทย์อย่างมาก ขณะที่สังคมไทยได้เริ่มหันมาสนใจในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น Netizen ได้มองเห็นความสำคัญวางระบบโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจ โดยเฉพาะซอฟต์แวร์บริหารจัดการธุรกิจ ERP เพื่อเปลี่ยนแปลงธุรกิจกลุ่มสุขภาพ (Healthcare) ให้เข้าสู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Intelligent Hospital) ในอนาคต
ล่าสุด Netizen (เนทติเซนท์) ได้พัฒนาระบบหลังบ้านเพื่ออุตสาหกรรมการแพทย์ และสุขภาพ ในการวางระบบ ERP เวอร์ชัน Netizen Peony เพิ่มเติมจาก SAP S/4HANA เพื่อวางรากฐานระบบการบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กรให้กับธุรกิจโรงพยาบาล การขับเคลื่อนธุรกิจโรงพยาบาลเข้าสู่ยุคดิจิทัล ช่วยในการปรับโมเดลธุรกิจโรงพยาบาลให้มีความยืดหยุ่น สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนไข้ และการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ สามารถเชื่อมโยงการทำงานภายในองค์กร และโรงพยาบาลภายในเครือ
โดยการเข้าถึงข้อมูล (Smart Data) ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และตัดสินใจ สร้างกลยุทธ์เพื่อเข้าถึงการบริการใหม่ๆ สำหรับวงการด้วยการพัฒนากระบวนการทำงาน กำหนดขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจน และตรวจสอบกระบวนการทำงาน เพื่อลดขั้นตอน และปริมาณงานของพนักงาน สร้างความโปร่งใส่ในการทำงาน ซึ่งนำไปสู่ Operation Excellence ทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และการให้บริการเทียบเท่าระดับมาตรฐานสากลโลก
ด้านนายเสรี สาธุกิจชัย ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เนทติเซนท์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ระบบ “Netizen Peony” พร้อมรองรับการเชื่อมต่อกับเครื่องมือ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมไปถึงระบบบริหารการจัดการยาและเวชภัณฑ์ ที่ช่วยลดต้นทุนในค่ายาและค่ารักษาพยาบาล ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น เพื่อเป็นการป้องกัน ลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลลดลง ที่สำคัญยังมีระบบบริหารเส้นทางการรักษาของผู้ป่วยตั้งแต่ ตารางออกตรวจของแพทย์ การนัดหมายผู้ป่วย การจัดการคิว ไปจนถึงขั้นตอนการให้บริการผู้ป่วย ด้วยระบบคิวอัจฉริยะ ผ่านทางแอพพลิเคชัน และการแจ้งเตือนคนไข้ผ่านทางไลน์แอพพลิเคชัน และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานในการร่วมสร้างประสบการณ์ที่ดี และปรับปรุงจุดเชื่อมต่อการบริการให้กับลูกค้า สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ลดเวลาและความแอดอัดของผู้ป่วยรอคิวรักษาพยาบาล ซึ่งรวมไปถึงการยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ไปสู่บริการอัจฉริยะ
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3524 ระหว่างวันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน 2562