ด้วยตัวเลขมูลค่าตลาดคลาวด์ในไทย ที่มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 23% ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2562 มีมูลค่า 2,400 ล้านบาท หรือ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดการณ์ว่าปี 2563 มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านบาท หรือ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ผู้ให้บริการระดับโลก อย่างอเมซอนเว็บเซอร์วิส กูเกิล ไมโครซอฟท์ เทนเซ็นต์ เข้ามาร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เปิดให้บริการคลาวด์เซอร์วิสในไทย ล่าสุดผู้เล่นรายใหม่ อย่างกลุ่มเอ็นทีที ประเทศไทย ที่ภายหลังรวมบริษัทไอทีชั้นนำ 28 บริษัทเรียบร้อย ก็ประกาศเปิดให้บริการคลาวด์ระดับโลกในไทยอย่างเป็นทางการเป็นบริการแรก
นายสุทัศน์ คงดำรงเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำประเทศไทย กัมพูชา เมียนมา และลาว บริษัท เอ็นทีที จำกัด กล่าวว่า ผู้ประกอบการในปัจจุบันกำลังใช้แอพพลิเคชันที่หลากหลายพร้อมกับเก็บข้อมูลจำนวนมากในแพลตฟอร์มต่างๆ การใช้บริการคลาวด์ถือเป็นตัวเลือกที่ช่วยตอบสนองความต้องการในการทำธุรกิจในยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
“วันนี้คงไม่ต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีคลาวด์ ต้องถามองค์กรว่าทำไมไม่ใช้คลาวด์แล้วจะใช้เมื่อไร ทำไมต้องลงทุนสร้างไอที อินฟราสตรัก เจอร์เองขึ้นมา ต้องมีบุคลากรมาดูแลระบบไอที องค์กรควรไปโฟกัสที่การทำธุรกิจหลักของตัวเองมากกว่า”
นายสุทัศน์ กล่าวต่อไปว่าที่ผ่านมามีการเปิดให้บริการคลาวด์ในไทยทั้งจากกลุ่มผู้ให้บริการระดับโลก และ โลคัล โพรไวเดอร์ แต่ไทยไม่ได้เป็นอินฟราสตรักเจอร์ฮับของอาเซียน ทำให้ยากที่จะดึงนักลงทุนคลาวด์ระดับโลกเข้ามาตั้งในไทย โดยขณะนี้ไทยมีทั้งบริการคลาวด์ทั้งอเมซอนเว็บเซอร์วิส กูเกิลคลาวด์ และไมโครซอฟท์ แต่บริการเหล่านี้ไม่มีอินฟราสตรักเจอร์ให้บริการในไทย ทำให้องค์กรไทยมีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบคลาวด์ที่อยู่ต่างประเทศ อีกทั้งแบนด์วิดธ์ ไม่ตอบสนองการใช้งานได้เต็มที่
บริษัทจึงได้ลงทุนเบื้องต้น 200 ล้านบาท สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้บริการคลาวด์ขึ้นมาในศูนย์ข้อมูล Thailand Bangkok 2 Data Center ของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยถือเป็นผู้ให้บริการระดับโลกรายแรก ที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานบริการคลาวด์ ในไทย จุดเด่นของบริการคลาวด์ของบริษัท คือการเป็นคลาวด์ที่มีมาตรฐานระดับโลก และโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการที่มีดาต้าเซ็นเตอร์อยู่ 140 แห่งทั่วโลก มีศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยระบบไอที SOC มีเคเบิลใต้นํ้า ที่เชื่อมโยงทั่วโลก มีแบนด์วิดธ์รองรับการส่งข้อมูลมหาศาล และยังมีศูนย์พัฒนานวัตกรรม นอกจากนี้ยังมีบุคลากรบริการ 1,000 คน เป็นบุคลากรให้คำปรึกษาระดับโพรเฟสชันนัล 700 คน ให้บริการครบวงจรตั้งแต่ออกแบบ ย้ายระบบ และบริหารจัดการคลาวด์ ในรูปแบบการให้บริการครบวงจร (Full Service)
เบื้องต้น การให้บริการคลาวด์จะจับกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งในภาคการเงิน ธนาคาร ภาคอุตสาหกรรม ผู้ให้บริการศูนย์บริการข้อมูล (Contact Centre) ธุรกิจที่มีหลายสาขา และภาครัฐที่ต้องการความปลอดภัยในระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ใช้งานบนแพลตฟอร์มของเอสเอพี
นายสุทัศน์ กล่าวต่อไปอีกว่าบริษัทไม่ได้เข้ามาลงทุนเปิดให้บริการคลาวด์ช้ากว่าคู่แข่งในระดับโลก โดยตลาดคลาวด์ในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมหาศาล โดยเชื่อว่าใน 3-5 ปีข้างหน้า องค์กรในไทยมากกว่าครึ่งจะย้ายระบบมาอยู่บนคลาวด์ ขณะที่ 5G และ IoT จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดข้อมูลขึ้นมหาศาล ซึ่งจะต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นคลาวด์รองรับปริมาณข้อมูล และการให้บริการกับลูกค้า เนื่องจากเทคโนโลยีคลาวด์มีความยืดหยุ่นสูง รองรับบริการดิจิทัลใหม่ๆ และโมบายแอพพลิเคชัน โดยองค์กรสามารถเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการได้ตามปริมาณผู้ใช้บริการ
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,527 วันที่ 1-4 ธันวาคม 2562