ฮิตาชิส่งเทคโนโลยี“AI” วัดความสุขทำงาน

15 ก.พ. 2563 | 03:43 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2563 | 10:43 น.

ฮิตาชิ เผยโฉมปัญญาประดิษฐ์ กับความสุข (AI and Happiness) โซลูชันช่วยเพิ่มความสุขให้พนักงานในองค์กร

 

ในอดีต ความสุข (Happiness) อาจเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้หรือดูเป็นนามธรรม เพราะความสุขของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน โดยมีปัจจัยที่หลากหลายขึ้นอยู่กับอายุ สถานภาพ เหตุการณ์ต่างๆ ที่พบเจอ เมื่อคนมีความสุขจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของกระบวนการหลั่งสารเคมีของร่างกาย ซึ่งหากจะให้มองไปถึงระดับเซลล์หรือระบบการทำงานภายในอาจเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก ฮิตาชิ จึงได้มีการนำเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาช่วยในการตรวจวัดความสุขของคนจากปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายนอก อาทิ อัตราการเต้นของหัวใจ การหดตัวของกล้ามเนื้อต่างๆ ที่แสดงออกให้เห็นผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน

ดร.คาซูโอะ ยาโนะ (Dr.Kazuo Yano) ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอ แฮปปิเนส บริษัท ฮิตาชิฯ กล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มคนวัยทำงานเป็นวัยที่มีความเครียดมากที่สุด โดยในปี 2558 ฮิตาชิเปิดตัวบริการที่ช่วยในการกระตุ้น องค์กรโดยใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมและตัวชี้วัดระดับความสุข พร้อมให้คำแนะนำในการเพิ่มระดับความสุขของตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งการใช้แอพพลิเคชันที่พัฒนาและวิเคราะห์โดย AI เป็นประจำทุกวัน รวมถึงให้คำแนะนำแก่บุคลากรในการทดลองสาธิต แสดงให้เห็นว่าแผนกต่างๆ ที่ใช้แอพพลิเคชันมีความเชื่อมโยงถึงระดับความสุขที่เพิ่มขึ้นและส่งผลต่อรูปแบบในการทำงาน โดย AI ทำให้ความสุขขององค์กรเพิ่มขึ้น และให้ข้อมูลเชิงลึกในรูปแบบการทำงานที่คนอาจไม่ได้สังเกตเห็น

 

 

ฮิตาชิส่งเทคโนโลยี“AI”  วัดความสุขทำงาน


 

 

จนกระทั่งปัจจุบันที่ภาวะความเครียดสามารถตรวจจับหรือวัดได้ด้วยเซ็นเซอร์ วัดระดับความสุขบนสมาร์ทโฟนที่มีอยู่ในมือของทุกคน ผ่านแอพพลิเคชัน Happiness Planet ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันที่ฮิตาชิได้สร้างขึ้นมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลของพนักงานโดยผ่านโซลูชัน AI and Happiness สามารถติดตั้งได้ทั้งบนป้ายพนักงาน (Nametags) หรือสายรัดข้อมือ (Wristband) เพื่อเก็บข้อมูลการทำงานพฤติกรรมการเคลื่อนไหวอัตราการเต้นของหัวใจ รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานของพนักงานในแต่ละวัน หลังจากนั้นจะนำมาวิเคราะห์แล้วจะแนะนำให้พนักงานทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียดระหว่างวัน นอกจากนี้แอพพลิเคชันดังกล่าวยังสามารถช่วยแนะนำวิธีการที่จะทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นได้ แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ผู้ใช้ว่าจะเลือกทำหรือไม่ สำหรับฟังก์ชันการตรวจวัดความสุขจะมีการอัพเดตและประมวลผลทุก 10 นาที ทั้งนี้จะให้ความสำคัญในเรื่องของความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลไม่มีการเปิดเผยต่อผู้อื่น แต่จะใช้งานในฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาพัฒนาองค์กร

ทั้งนี้จากการวิจัยทำให้เห็นว่า องค์กรที่มีความสุขในการทำงานสูงจะส่งผลให้คุณภาพของงานสูงตามไปด้วย และความสุขนั้นส่งผลต่อการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การนำไปใช้ประโยชน์ คือ ธุรกิจสามารถใช้เพื่อวัดความสุขของคนในองค์กรได้ รวมถึงธุรกิจบริการที่สามารถใช้เพื่อวัดความสุขของลูกค้าได้ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เติมเต็มหรือวัดความสุขจะช่วยต่อยอดไปได้ในอนาคต

 

 

โดยปกติรูปแบบของธุรกิจคือ การให้บริการหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ ซึ่งลูกค้าก็จะได้เพียงสินค้าหรือผลิต นั้นๆ ที่เป็นรูปธรรม แต่ถ้าเปลี่ยนหลักการในการสร้างผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่สามารถสร้างความสุข ก็น่าจะเติบโตได้มากกว่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งแอพพลิเคชันนี้อาจจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรที่ใช้งานได้อย่างมหาศาล เมื่อมีมาตรวัดความสุขก็จะส่งผลต่อเม็ดเงินของ บริษัทโดยตรง จากผลการวิจัยที่ ผ่านมาพบว่าภายใน 1 ปีสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นถึง 27% ส่งผลต่อการเติบโตทางธุรกิจ ดังนั้นองค์กรควรให้ความสำคัญกับการวัดความสุขในการทำงานของพนักงาน เพราะจากการทดลองใช้งานในองค์กรของฮิตาชิด้วยการ เปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ แต่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก

สำหรับการผลักดันนั้นมีผู้สนับสนุนในการพัฒนาโครงการ คือทีมผู้บริหารที่พัฒนาด้านนี้โดยตรง โดยขณะนี้อยู่ในช่วงการเตรียมตัวเพื่อขยายการให้บริการ ไปสู่ภาคประชาชน ที่ทุกองค์กรควรมีการใช้งานแอพพลิ เคชันวัดระดับความสุข แต่หากให้เจาะจงควรเริ่มที่พนักงานขาย เพราะกระบวนการต่างๆ ยอดขาย แปรผันไปตามกิจกรรมของพนักงาน ขายแต่ละคนอย่างเห็นได้ชัด และสำหรับในประเทศไทยคาดว่าจะมีการให้บริการในอนาคต

 

หน้า 26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,548 วันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2563