เงินลงทุนสะพัด4.5แสนล้าน รับ5G

12 ก.พ. 2563 | 04:52 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2563 | 12:53 น.

16 ก.พ.ประเทศไทยเข้าสู่บริบทใหม่ของสื่อสารไร้สาย

  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกมาวิเคราะห์ไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคโทรคมนาคมสื่อสารไร้สาย 5G ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่หรือระบบเศรษฐกิจ IoT พี่โดยมีการตั้งเป้าที่จะผลักดันให้เกิดการเปิดให้บริการได้ในบางพื้นที่ภายในกลางปีนี้ 

เงินลงทุนสะพัด4.5แสนล้าน รับ5G

    ในช่วง 3 ปีแรก ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจำเป็นต้องวางแผนเลือกพื้นที่ลงทุนโครงข่ายและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพโดยเฉพาะองค์กรธุรกิจเพื่อก่อให้เกิดความคุ้มค่าเชิงธุรกิจ กำหนดราคาค่าบริการ 5G ที่ไม่สูงจนเกินไป

 

 

 

          ประเด็นสำคัญ ในปี 2563 นี้ เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายของไทยกำลังจะเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดการประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการ 5G ในวันที่ 16 ก.พ. 2563 บนย่านคลื่นความถี่ 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz และตั้งเป้าที่จะผลักดันให้เกิดการเปิดให้บริการได้ในบางพื้นที่ภายในกลางปีนี้ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมมุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 

 

 

    อย่างไรก็ดี ก็ยังคงมีประเด็นคำถามเกี่ยวกับความพร้อมของตลาดทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคในปัจจุบันที่จะรองรับการใช้งานโครงข่ายโทรคมนาคม 5G ที่คาดว่าจะมีต้นทุนอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับการลงทุนในยุค 3G/4G รวมไปถึงแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ที่ยังคงอยู่ในวงจำกัดในปัจจุบัน ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ประกอบการโทรคมนาคมในการวางแผนเชิงธุรกิจ 

 

     เทคโนโลยี 5G เป็นเทคโนโลยีฐานรากสำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่หรือระบบเศรษฐกิจ IoT (Internet of Things) สามารถเชื่อมโยงถึงกันผ่านอินเทอร์เน็ต 

 

   อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมของตลาดโทรคมนาคม จะพบว่า ยังคงต้องเผชิญกับประเด็นข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่นภาระต้นทุนที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องเผชิญ จึงทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องวางแผนธุรกิจให้รัดกุม 

 

   ส่วนความพร้อมของตลาดโทรคมนาคม จะพบว่า ผู้ใช้บริการทั้งผู้บริโภคและลูกค้าองค์กรส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงไม่เข้าใจความแตกต่างในคุณสมบัติของเทคโนโลยี 5G เมื่อเทียบกับเทคโนโลยี 4G นัก โดยมีความเข้าใจเพียงว่าเทคโนโลยี 5G มีคุณสมบัติเหนือกว่าเทคโนโลยี 4G เพียงแค่มิติด้านความเร็ว ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับความเร็วของบริการ 4G ในปัจจุบัน ก็ยังคงพอเพียงสำหรับการประยุกต์ใช้งานบริการดิจิทัลที่มีอยู่ และสามารถตอบสนองความต้องการได้ดี ทำให้ผู้ใช้บริการขาดแรงจูงใจและเห็นความจำเป็นที่จะหันมาใช้บริการ 5G ซึ่งมีแนวโน้มค่าบริการที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับบริการเดิม

  

   ทั้งนี้ การมาของเทคโนโลยี IoT จะหนุนให้การใช้งานโครงข่าย 5G เต็มศักยภาพมากขึ้น เนื่องจากลำพังเพียงโครงข่าย 3G/4G จากอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีอยู่เพียงประมาณ 78 ล้านเครื่อง อาจไม่เพียงพอกับศักยภาพการรองรับการเชื่อมต่อของโครงข่าย 5G ที่สูงกว่าโครงข่าย 3G/4G ถึงกว่า 1,000 เท่า 

 

    นอกเหนือจากนี้ ยังมีประเด็นความพร้อมด้านอุปกรณ์สื่อสาร 5G อยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยผู้ผลิตได้เพิ่งเริ่มทยอยเปิดตัวอุปกรณ์สื่อสาร 5G โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนในตลาดโลก และอุปกรณ์ต่างๆ ยังคงมีระดับราคาที่สูง สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ยังคงไม่มีการเริ่มจำหน่ายอุปกรณ์ที่รองรับ 5G โดยคาดว่าจะเริ่มเข้ามาจำหน่ายราวกลางปีก่อนที่จะมีการเปิดให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการภายใต้สถานการณ์ด้านตลาดโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดังกล่าว ในช่วง 3 ปีแรกของการเปิดให้บริการ 5G ผู้ประกอบการน่าจะเผชิญแรงกดดันด้านปริมาณอุปสงค์โดยรวมในการใช้บริการ 5G ที่ไม่สูงนัก ดังนั้น การวางแผนธุรกิจอย่างรัดกุมจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญ โดยองค์ประกอบแรก คือ การวางแผนเลือกพื้นที่การลงทุนโครงข่าย 5G ที่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าเชิงธุรกิจ โดยการลงทุนโครงข่ายในช่วงแรกควรจะกระจุกตัวตามพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่รวมถึงพื้นที่ EEC เช่น ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพที่ผู้ใช้บริการทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีกำลังซื้อและมีความต้องการใช้บริการสื่อสารข้อมูลในระดับสูง

เงินลงทุนสะพัด4.5แสนล้าน รับ5G     

      ในส่วนของตลาดผู้บริโภค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาด 5G โดยรวมอาจจะไม่เติบโตนักในช่วงแรก โดยจะขยายตัวเฉพาะกลุ่มตลาดผู้บริโภคพรีเมียม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบและติดตามเทคโนโลยีกำลังซื้อสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตรุ่นใหม่ที่รองรับ 5G โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจยังคงอยู่ในช่วงชะลอตัว

     ขณะที่แผนธุรกิจที่สำคัญ คือ การกำหนดราคาค่าบริการ 5G ที่ไม่สูงเกินไป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดผู้ใช้งานบริการ 5G ซึ่งมีต้นทุนหลักอยู่สองส่วน คือ ต้นทุนการประมูลคลื่นความถี่ และต้นทุนการลงทุนโครงข่าย 

   สำหรับต้นทุนด้านคลื่นความถี่นั้น แม้ว่าจะมีการกำหนดราคาตั้งต้นของการประมูลคลื่น 5G ที่ต่ำกว่าเมื่อครั้งประมูลคลื่น 3G/4G แต่ราคาตั้งต้นการประมูลคลื่น 5G ของไทยก็ยังคงสูงติดสามอันดับแรกของโลก เช่น การประมูลคลื่นความถี่ 2600 MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยให้ความสนใจมากที่สุด มีราคาเริ่มต้นที่ 1,862 ล้านบาท เป็นรองเพียงสิงคโปร์และอินเดียซึ่งมีราคาเริ่มต้นสูงกว่า 2,000 ล้านบาท ในขณะที่ประเทศอื่นส่วนใหญ่มีราคาต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นต้น อย่างไรก็ดี การประมูลครั้งนี้ได้กำหนดเงื่อนไขชำระเงินที่ผ่อนปรนมากกว่าการประมูลครั้งก่อน เช่น กำหนดให้ชำระเงินงวดที่หนึ่งในปีแรกเพียงร้อยละ 10 ของราคาชนะประมูล และยกเว้นการชำระเงินในปีที่ 2-4 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีระยะเวลาในการลงทุนและทำตลาด ก่อนที่จะมาชำระอีกครั้งในปีที่ 5-10 ปีละร้อยละ 15 เป็นต้น ทำให้น่าจะบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนคลื่นต่อราคาค่าบริการ 5G ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการได้ในระดับหนึ่ง

   สำหรับต้นทุนการลงทุนโครงข่าย 5G ผู้ประกอบการก็ยังคงต้องเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนการลงทุนโครงข่าย ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าการลงทุนโครงข่าย 4G ราว 1.8 เท่า โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนซึ่งอุปกรณ์โครงข่าย 5G ยังคงมีระดับราคาที่สูง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การลงทุนโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั้งประเทศจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 450,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเมื่อครั้งลงทุนโครงข่าย 4G ซึ่งอยู่ที่ราว 255,000 ล้านบาท 

 

     นอกจากนี้ แม้ว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะเลือกยุทธวิธีทยอยลงทุนโครงข่ายในพื้นที่ศักยภาพก่อนเพื่อกระจายภาระต้นทุนโครงข่าย แต่ภายใต้ข้อกำหนดเงื่อนไขการประมูลคลื่นที่กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมร้อยละ 50 ของพื้นที่ EEC ภายใน 1 ปี และครอบคลุมร้อยละ 50 ของประชากรในพื้นที่สมาร์ทซิตี้ภายใน 4 ปี ทำให้ผู้ประกอบการจำต้องลงทุนโครงข่ายในช่วง 3-4 ปีแรกเป็นเม็ดเงินกว่าร้อยละ 60-70 ของต้นทุนโครงข่ายที่ต้องลงทุนให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายใต้แรงกดดันด้านภาระต้นทุนดังกล่าว อาจส่งผลทำให้ราคาของแพ็กเกจบริการ 5G มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าระดับราคาบริการ 4G โดยเฉพาะในช่วงแรกของการลงทุนที่คาดว่ายังคงมีอุปสงค์การใช้งานในวงจำกัด ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่น่าจะลดผลกระทบจากต้นทุนการลงทุนโครงข่าย 5G คือ การสร้างกลไกเพื่อให้เกิดการลงทุนและใช้โครงข่าย 5G ร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งจะมีส่วนลดความซ้ำซ้อนในต้นทุนการติดตั้งโครงข่าย และช่วยย่นระยะเวลาการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมเช่นกัน

 

     องค์ประกอบสุดท้ายที่มีส่วนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การเร่งพัฒนาบริการที่ประยุกต์ใช้ 5G โดยเฉพาะในช่วงแรกที่เทคโนโลยี IoT ยังไม่แพร่หลาย เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากบริการเดิมในยุค 4G ที่เน้นเพียงมิติด้านความเร็วอย่างการชมภาพยนตร์และฟังเพลง เป็นต้น โดยควรเน้นทั้งคุณสมบัติเด่นด้านความเร็ว และการตอบสนองที่ฉับไว (ความหน่วงต่ำ) เป็นสำคัญ เช่น โซลูชันเทคโนโลยีเสมือนจริงสำหรับสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในธุรกิจค้าปลีก และโซลูชันบริหารสินค้าคงคลังและโลจิสติกส์แบบเรียลไทม์ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอาจจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับบริษัทเทคโนโลยีทั้งซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์เพื่อแชร์ไอเดีย ทดลอง และลงทุนในแพลทฟอร์มดิจิทัลใหม่ๆ บน 5G รวมไปถึงการจับมือกับลูกค้าองค์กรธุรกิจต่างๆ เพื่อเข้าไปร่วมศึกษาและพัฒนาโซลูชันเชิงธุรกิจต่างๆ

 

    กล่าวโดยสรุป ในการลงทุนเทคโนโลยี 5G ผู้ประกอบการโทรคมนาคมน่าจะเผชิญโจทย์รอบด้านทั้งประเด็นความพร้อมของตลาดและเทคโนโลยี รวมไปถึงภาระต้นทุนต่างๆ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรกที่คาดว่าอุปสงค์ในบริการ 5G น่าจะอยู่ในวงจำกัด ทำให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจำเป็นต้องวางแผนธุรกิจอย่างรัดกุมเพื่อตอบโจทย์ด้านการเงินของธุรกิจ โดยดำเนินการวางแผนเลือกพื้นที่ลงทุนโครงข่ายและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยเฉพาะองค์กรธุรกิจเพื่อก่อให้เกิดความคุ้มค่าเชิงธุรกิจ กำหนดราคาค่าบริการ 5G ที่ไม่สูงจนเกินไปโดยหาแนวทางควบคุมต้นทุนการลงทุนโครงข่าย เช่น ทำความตกลงใช้โครงข่ายร่วม เป็นต้น นอกจากนี้ การสร้างความแตกต่างจากบริการในยุค 4G โดยพัฒนาบริการ 5G ที่หลากหลาย โดยเน้นคุณสมบัติด้านความเร็วและการตอบสนองที่ฉับไวก็มีส่วนสำคัญในการดึงดูดผู้ใช้บริการโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เทคโนโลยี IoT ยังไม่แพร่หลายในไทย