พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประมูล 5G วันนี้ใช้เวลาการประมูล 5 ชั่วโมง 35 นาที เริ่มตั้งแต่เวลา 9.30 น.ได้ประมูลคลื่นความถี่ 3 ย่าน ได้แก่ คลื่น 700MHz คลื่น 2600MHz คลื่น 26 GHz จำนวน 48 ใบอนุญาต รวมมูลค่าประมูล 100,521.18 ล้านบาท รวมราคากำหนดย่านความถี่ (Assignment) (ที่ 328.18 ล้านบาท) ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับผู้ที่ประมูลคลื่นได้มากสุด คือบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN)ในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) หรือเอไอเอส จำนวน 23 ใบอนุญาต ใน 3 คลื่นความถี่ (700MHz,2600MHz,26GHz) รวมราคา 42,066 ล้านบาท
อันดับ 2 ได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) ประมูลได้ 2 ใบอนุญาตคลื่น 700 MHz รวมราคา 34,306 ล้านบาท
อันดับ 3 ได้แก่ ส่วนบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC)ในเครือบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ประมูลคลื่นได้ 17 ใบอนุญาต 2 คลื่นความถี่ (2600MHz ,26GHz ) รวมราคา 21,449.78 ล้านบาท
อันดับ 4 บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ประมูลคลื่น 26 GHz ได้ 4 ใบอนุญาต รวม 1,795 ล้านบาท
อันดับ 5 DTAC ประมูลได้คลื่น 26 GHz 2 ใบอนุญาต รวมราคา 910 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดการประมูล คลื่น 700 MHz มี 3 ใบอนุญาต ใบละ 5 MHz มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ปรากฎว่า บมจ.กสท โทรคมนาคม ประมูลได้ 2 ใบอนุญาต รวมราคา 34,306 ล้านบาท และ ADVANC ประมูลได้ 1 ใบ ด้วยราคา 17,154 ล้านบาท/ใบ จาก ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท/ใบ ส่วน TRUE ประมูลไม่ได้ ทั้งนี้ รายได้ประมูลรวม 51,460 ล้านบาท
คลื่น 2600 MHz ประมูลได้ทั้งหมดจำนวน 19 ใบอนุญาต ใบละ 10 MHz ราคาประมูลได้รวม 37,433.89 ล้านบาท โดย ADVANC ประมูลได้ 10 ใบอนุญาต เป็นเงิน 19,561 ล้านบาท ได้คลื่นความถี่ในย่าน 2500-2600 MHz ขณะที่ TRUE ประมูลได้ 9 ใบอนุญาต เป็นเงิน 17,872.89 ล้านบาท (ราคาประมูล. 17,560 ล้านบาท ค่ากำหนดย่านความถี่ 268.89 ล้านบาท) ส่วน กสท.ประมูลไม่ได้
ส่วนคลื่น 26 GHz มีจำนวน 27 ใบอนุญาต ใบละ100 MHz ประมูลได้ 26 ใบอนุญาต รวมมูลค่าทั้งหมด 11,627.29 ล้านบาท ผู้ที่ประมูลได้ ได้แก่ ADVANC ได้ 12 ใบอนุญาต ราคารวม 5,345 ล้านบาท TRUE ประมูลได้ 8 ใบอนุญาต ราคารวม 3,576.89 ล้านบาท ทีโอที ประมูลได้ 4 ใบอนุญาต รวม 1,795 ล้านบาท และ DTAC ประมูลได้ 2 ใบอนุญาต รวม 910 ล้านบาท
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลังจากนี้จะนำผลการประมูลเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.เพื่อรับรองผลการประมูล และให้ผู้ร่วมประมูลสามารถเข้ารับใบอนุญาตได้ภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้
สำหรับการชำระเงินคลื่น 700 MHz 10 งวด(ปี) ปีละ 10% ไม่ต้องขยายโครงข่าย ส่วนคลื่น2600 MHz กำหนดจ่ายงวดที่ 1 เท่ากับ 10% และยกเว้นปีที่ 2-4 และให้จ่ายในปีที่ 5-10 หรืองวดที่ 2-7 งวดละ 15% และในปีที่ 1 ให้ขยายโครงข่าย 50% ของพี้นที่ EEC และ 4 ปี ขยายโครงข่าย 50% ของประชากร Smart City สำหรับคลื่น 26 GHz ชำระ 100% ภายใน 1 ปี ไม่ได้กำหนดการขยายโครงข่าย