เอดีเอ ชี้แบรนด์ชู Data Driven เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย พร้อมเผย 7 เทรนด์การตลาดประจำปีนี้ เผยออมนิแชนแนล สมาร์ทโฟน AR/VR จะมีบทบาทสำคัญ
นายศุภกิตติ์ ลิ้มบุญทรง ผู้อำนวยการบริหาร เอดีเอ ประเทศไทย บริษัทโฆษณาดิจิทัลครบวงจร ในเครือ เอเชียต้า กรุ๊ป จากประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าปัจจุบันข้อมูลหรือดาต้าจะเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น แต่ความสามารถในการเข้าถึงดาต้าไม่ได้หมายถึงความสามารถในการเข้าใจผู้บริโภคหรือ กลุ่มเป้าหมายเสมอไป เพราะต้องอาศัยความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลายได้อย่างลึกซึ้งด้วย และที่สำคัญต้องสามารถนำความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์ดาต้ามาประยุกต์ให้เป็นกลยุทธ์ที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับแบรนด์ จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล หรือ Data-Driven Marketing อย่างแท้จริง
“ปัจจุบันแบรนด์ต่างๆ ในประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของ Data-Driven Marketing แล้วว่าสามารถช่วยเพิ่มยอดขาย หรือสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจ (conversion) ได้จริง และในปีนี้ เราจะเห็นแบรนด์ต่างๆ เริ่มนำดาต้ามาวิเคราะห์เพื่อติดตามพฤติกรรม และความสนใจของกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะลึกมากขึ้น โดยกลยุทธ์หลักจะเป็นการใช้การตลาดแบบเฉพาะเจาะจง และการใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แบบเป็นรายบุคคล และสามารถตอบสนองได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งขณะนี้หลายแบรนด์เริ่มหันมาลงทุนในเทคโนโลยีการตลาด (MarTech) และระบบอัตโนมัติกันมากขึ้นเรื่อยๆ”
ในส่วนของเทรนด์การตลาดสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป นายวิตตอริโอ เฟอร์ลัน หัวหน้าฝ่ายข้อมูลธุรกิจเชิงลึกของเอดีเอ กล่าวว่า เทรนด์การตลาดที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อนักการตลาดและผู้บริโภคในปี 2020 นี้ ได้แก่
Omni-Channel
ที่คาดว่าจะมีความสำคัญมากขึ้นด้วยช่องทางที่หลากหลาย และเกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลาในยุคดิจิทัล การบริหารจัดการช่องทางต่างๆ ให้ทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยคาดว่ามูลค่ารวมของแพลตฟอร์มออมนิแชนแนลจะเติบโตกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้
Data Unification
การรวบรวมดาต้าของแต่ละกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่มากมายและกระจัดกระจายเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายหรือแต่ละบุคคล หรือช่วยการตัดสินใจทางธุรกิจตั้งแต่การบริหารงบประมาณ การคาดการณ์ยอดขาย หรือ การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในเชิงลึก
3.100% Mobile First พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความสำคัญกับโทรศัพท์มือถือมากกว่า 90% แบรนด์ยักษ์ใหญ่หลายแบรนด์จึงต้องปรับกลยุทธ์มาสร้างช่องทางเชื่อมโยงกับลูกค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นช่องทางที่จะได้รับความนิยมสูงที่สุดในอนาคต
เทคโนโลยีสำหรับการผลิต VDO
ด้วยความนิยมในการรับชมคลิปวิดีโอผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2020 คนจะใช้เวลาดูวิดีโอออนไลน์มากกว่าดูทีวีเป็นครั้งแรก โดยค่าเฉลี่ยต่อคนจะอยู่ที่ 84 นาทีต่อวัน ส่งผลให้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อวิดีโอ ทั้งในด้านคุณภาพ ความเร็ว รวมถึง video analytics ต่างๆ จะได้รับการพัฒนาให้มีความดึงดูดน่าสนใจมากขึ้น โดยมูลค่าการตลาดในส่วน VDO analytics อย่างเดียวคาดว่าจะเติบโตกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022
การค้นหาด้วยเสียงแซงหน้าเสิร์ชเอนจิ้น
การใช้ Voice Search Optimisation หรือ VSO จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีการใช้ VSO มากกว่า 50% ของการค้นหาทั้งหมด และการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านเสียง (voice-commerce) จะมีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้
AI จะมีอายุ 65 ปีในปี 2020
AI ได้ใช้เวลาเรียนรู้เรื่องต่างๆ มาแล้วกว่า 65 ปี ปัจจุบันนี้นักการตลาดส่วนใหญ่เชื่อว่า real-time personalised advertising ซึ่งเป็นผลจากการเรียนรู้ของ AI จะเป็นเรื่องปกติธรรมดาในปี 2020 นี้ และจะเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคในการรับสื่อแบบ personal
AR และ VR ยังคงโตต่อเนื่อง
เทคโนโลยี Augmented Reality หรือ AR และ Virtual Reality VR คาดว่าจะมีมูลค่าราว 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 หมายความว่า ผู้บริโภคจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ในการบริโภคสื่อรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทคโนโลยีโฮโลแกรมจะได้รับการพัฒนาให้น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคมากขึ้น
“อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ และเป็นที่หนึ่งในยุคดิจิทัลนี้ได้ ก็คือ การสร้างวัฒนธรรมการเติบโตและเรียนรู้ขององค์กร (Growth Mindset) และการเปิดโอกาสให้แบรนด์ได้ลองสิ่งใหม่ๆ ได้ลองผิดลองถูก เพื่อหากลยุทธ์ที่เหมาะสมกับแบรนด์ที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค digital transformation นี้ พนักงานทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งองค์กร ต้องมีกระบวนการวัดผลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลขององค์กรให้มีความเข้มแข็งในระยะยาว” นายศุภกิตติ์ กล่าวทิ้งท้าย