เทคโนโลยีคนไทย หุ่นยนต์สู้โควิด ลดเสี่ยงบุคลากรแพทย์

19 เม.ย. 2563 | 00:57 น.
อัพเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2563 | 09:40 น.

 

ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาตลอด แต่ในวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้จะเห็นความร่วมมือของสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ในการพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ หรือ Robot ขึ้นมาสนับสนุนทางการแพทย์ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ลดอัตราการใช้อุปกรณ์การแพทย์จากการถอดเปลี่ยนชุดทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนโซนการรักษาที่มีความเสี่ยง รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแพทย์

-ระบบสื่อสารทางไกล

Delivery Robot “ปิ่นโต”

 

เทคโนโลยีคนไทย หุ่นยนต์สู้โควิด ลดเสี่ยงบุคลากรแพทย์

เริ่มต้นจากโอเปอเรเตอร์ 2 รายใหญ่ คือ เอไอเอส และทรู ได้เข้ามาสนับสนุนเทคโนโลยีสื่อสาร 5G ในโครงการ CU-RoboCovid ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พัฒนา “น้องปิ่นโต” (Quarantine Delivery Robot) หุ่นยนต์เพื่อการขนส่งและการสื่อสารทางไกล แบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถส่งอาหารและยาระยะไกลพร้อมพัฒนาระบบสื่อสารทางไกลระหว่างแพทย์และคนไข้ (Quarantine Telepresence) สำหรับคุณสมบัติการใช้งาน “น้องปิ่นโต” หุ่นยนต์พัฒนาเพื่อการขนส่งและการสื่อสารทางไกลเพื่อช่วยสนับสนุนภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย 1. ช่วยขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์แก่คนไข้ ผ่านควบคุมทางไกลบนเครือข่ายสื่อสารไร้สาย ที่จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ลดความเสี่ยง จากการต้องเข้าไปอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และยังสามารถคอยเฝ้าระวังดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิดแทนได้อีกด้วย 2. ช่วยในการสื่อสารระยะไกล ผ่านหน้าจอที่ติดอยู่ ณ รถเข็นด้วยการควบคุมทางไกลบนเครือข่ายสื่อสารไร้สาย ช่วยให้แพทย์ พยาบาล สามารถติดตามดูแลคนไข้ได้ตลอดเวลา โดยระบบนี้จะช่วยลดทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องทิ้งทุกครั้ง เมื่อเปลี่ยนโซนการตรวจ และลดระยะเวลาการเข้าใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ 

 

-ผู้ช่วยหมอ ROBOT FOR CARE

เทคโนโลยีคนไทย หุ่นยนต์สู้โควิด ลดเสี่ยงบุคลากรแพทย์

 

นอกจากนี้โอเปอเรเตอร์ ค่ายเอไอเอส ยังได้ประกาศภารกิจ AIS 5G สู้โควิด-19 โดยทีมนักวิจัยนักพัฒนาที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลใน AIS NEXT ได้จัดตั้งเป็นศูนย์เฉพาะกิจ AIS Robotic Lab by AIS NEXT นำหุ่นยนต์จากบริษัทผู้จำหน่าย มาพัฒนาเป็นหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G Telemedicine และโซลูชั่นส์งานบริการทางแพทย์หลากหลายรูปแบบ

เทคโนโลยีคนไทย หุ่นยนต์สู้โควิด ลดเสี่ยงบุคลากรแพทย์

โดยศูนย์เฉพาะกิจ AIS Robotic Lab จะทำงานร่วมกับโรงพยาบาล เพื่อปรับฟังก์ชันการใช้งานของหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G Telemedicine และโซลูชันงานบริการทางแพทย์เพื่อให้ตรงกับความต้องการในการใช้งานเฉพาะของแต่ละโรงพยาบาล และพร้อมเปิดกว้างในการพัฒนาหุ่นยนต์ร่วมกับคนไทยทุกภาคส่วน นอกจากทีม AIS Robotic Lab by AIS NEXT จะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G Telemedicine และโซลูชันงานบริการทางแพทย์แล้ว

ในทีม AIS Robotic Lab by AIS NEXT มีภารกิจพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G Telemedicine เวอร์ชันใหม่ ROBOT FOR CARE เป็นเหมือนผู้ช่วยหมอและพยาบาล จำนวน 21 ตัว โดย AIS Robotic Lab ทยอยส่งมอบให้กับโรงพยาบาล 20 แห่ง ที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด-19

หุ่นยนต์ Telemedicine ROBOT FOR CARE เป็นหุ่นยนต์ที่ติดตั้ง Thermoscan, ระบบปรึกษาทางไกลระหว่างผู้ป่วย และหมอผ่าน VDO CALL โดยที่หมอกับผู้ป่วยไม่ต้องอยู่ในห้องเดียวกัน หรือสัมผัสใกล้กัน โดยสามารถบังคับหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่ผ่าน 5G ช่วยแบ่งเบาภาระ ลดการแออัด และลดเสี่ยงติดเชื้อทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ 

 

-ผู้ช่วยพยาบาล

เทคโนโลยีคนไทย หุ่นยนต์สู้โควิด ลดเสี่ยงบุคลากรแพทย์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คิดค้นหุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล CMU Aiyara เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน แนวคิด “กายห่างแต่ใจไม่ห่าง CMU Aiyara” คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) โดยศูนย์นวัตกรรมสุขภาพคณะแพทยศาสตร์ ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คิดค้นหุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล CMU Aiyara เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงานภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในแนวคิด “กายห่างแต่ใจไม่ห่าง CMU Aiyara” ด้วยความร่วมมือของศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และห้องวิจัยการเคลื่อนที่และควบคุม ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ศูนย์ระบบและนวัตกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยไอยราหุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์และพยาบาล ในการดูแลผู้ป่วย COVID-19 จะถูกนำมาใช้ใน หอผู้ป่วย โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ลดความเสี่ยงในการสัมผัส เพื่อลดปริมาณการใช้ชุดและอุปกรณ์ป้องกัน ในขณะเดียวกันเป็นช่องทางในการส่งมอบการดูแลและเป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างทีมดูแลและผู้ป่วย ในแนวคิด“กายห่างแต่ใจไม่ห่าง”

เทคโนโลยีคนไทย หุ่นยนต์สู้โควิด ลดเสี่ยงบุคลากรแพทย์

จะเห็นได้ว่าการพัฒนานวัตกรรม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งหลังจากผ่านพ้นวิกฤตินี้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาทบทวนส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศสำหรับการพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์อย่างจริงจัง 

-หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อแสงยูวี

 

เทคโนโลยีคนไทย หุ่นยนต์สู้โควิด ลดเสี่ยงบุคลากรแพทย์

ด้านศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาและทดสอบ “Germ Saber Robot” หุ่นยนต์ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อก่อโรคโควิด-19 ด้วยแสงยูวี (UV) ที่พัฒนาขึ้นนี้ประกอบด้วยหลอดยูวี-ซี (UV-C ) ขนาดพลังงานรวม 300 วัตต์ พร้อมชุดควบคุมไฟ มีความพิเศษตรงที่สามารถบังคับให้ขับเคลื่อนไปยังจุดต่างๆ ผ่านอุปกรณ์ควบคุม “รีโมตคอนโทรล” เพื่อสั่งการให้หุ่นยนต์เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาและหมุนตัวแบบ 360 องศา เพื่อประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคทุกสภาพพื้นที่ โดยรังสีอัลตราไวโอเลตหรือแสง UV เป็นสเปกตรัมของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วง 10-400 นาโนเมตร ซึ่งมีความถี่ที่สูงกว่าที่ตาเรามองเห็นได้ โดยหุ่นยนต์ “Germ Saber Robot” ที่พัฒนาขึ้นนี้ ใช้แสง UV-C (ความยาวคลื่นอยู่ในย่านความถี่ประมาณ 250 นาโนเมตร) เป็นแสง UV ที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหรือเชื้อโรคต่างๆ ที่ความยาวคลื่นนี้แสง UV จะทำลายดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างไวรัส, แบคทีเรีย, เชื้อรา และเชื้อโรคชนิดต่างๆ หยุดยั้งประสิทธิภาพในการแพร่พันธุ์และฆ่าพาหะเหล่านี้ในที่สุด

 

อย่างไรก็ตามการนำหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคก่อโรคโควิด-19 ด้วยแสงยูวี หรือ UV “Germ Saber Robot” มาใช้ประโยชน์ในช่วงที่ประเทศไทยมีการระบาดของโรคโควิด-19 จะช่วยให้สถานที่ต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจากนํ้ายาฆ่าเชื้อ ช่วยลดการตกค้างหรือปนเปื้อนของสารเคมีในนํ้ายาฆ่าเชื้อ ที่สำคัญหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคสามารถฆ่าละอองฝอยของเชื้อที่ลอยในอากาศได้ และยังสามารถใช้ฆ่าเชื้อบนพื้นผิวของอุปกรณ์เฉพาะ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การแพทย์ ที่ไม่สามารถโดนนํ้าหรือนํ้ายาเคมีได้ 

หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,566 วันที่ 16 - 18 เมษายน 2563

เทคโนโลยีคนไทย หุ่นยนต์สู้โควิด ลดเสี่ยงบุคลากรแพทย์