ดร.ขจรวุฒิ อุ่นใจ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้จัดการโครงการการพัฒนากระบวนการฆ่าเชื้อด้วยละอองฝอยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ สำหรับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เผยว่า การรับมือกับวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019หรือโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ (PPE) มีความสำคัญและจำเป็นต้องมีใช้เป็นจำนวนมาก แต่จากการระบาดของเชื้อไวรัสไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ส่งผลให้อุปกรณ์เหล่านี้ขาดแคลนและมีไม่เพียงพอกับความต้องการ
มจธ. ทราบถึงปัญหาสำคัญนี้ จึงได้เร่งพัฒนาระบบที่ใช้ในการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ PPE ทางการแพทย์ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ในสถานการณ์ที่เร่งด่วน มจธ. ตั้งเป้าหมายในการทำงานให้เร็วที่สุด คือ ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ ต้องสามารถติดตั้งและทดสอบระบบจริงได้ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นแห่งแรก
จากการระดมทีมอาจารย์และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา อาทิเช่น วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมชีวภาพ จุลชีววิทยา และเทคโนโลยีวัสดุ มาร่วมกันทำภารกิจนี้ ทีมงานเลือกใช้เทคโนโลยีการฆ่าเชื้อด้วยระบบพ่นไอระเหยของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide Vapor: HPV) เนื่องจากฆ่าเชื้อโรคได้ดีและมีความเหมาะสมกับการฆ่าเชื้อจำนวนมาก ด้วยต้นทุนต่อการดำเนินงานต่อครั้งที่ต่ำ ค่าสารเคมีต่ำกว่า 2 บาท/ชิ้น และสามารถฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 มากกว่า 1,000 ชิ้นต่อครั้ง โดยที่ไม่ลดประสิทธิภาพอุปกรณ์ และเป็นระบบที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration: FDA) ได้อนุญาตให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว
ทั้งมีข้อมูลว่าหน้ากาก N95 ที่ฆ่าเชื้อโดย HPV สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง โดยห้องฆ่าเชื้อที่ออกแบบไว้จะเป็นห้องระบบความดันเป็นลบ (negative pressure) ขนาด 6x2.5x3.5 เมตร จะใช้การปรับปรุงห้องภายในอาคารท่านผู้หญิง ประภาศรี กำลังเอก (ตึกอุบัติเหตุ) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ PPE อย่างหน้ากาก N95 จำนวน 2,000 ชิ้นต่อวัน หรือชุดคลุมปฏิบัติการชนิด Coverall จำนวน 150 ตัวต่อวัน
ดร.ขจรวุฒิ กล่าวเสริมว่า แม้จะมีการรับรองและใช้เทคโนโลยีนี้ในต่างประเทศแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากความชื้นในอากาศที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของระบบ HPV ได้ ทีมงานจึงได้ดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของระบบ ณ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) ของ มจธ. ด้วยความร่วมมือของ บริษัท ซิม จำกัด สร้างห้องทดสอบที่มีการควบคุมความชื้น อุณหภูมิ และมีขนาดเดียวกับห้องฆ่าเชื้อที่ออกแบบไว้สำหรับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อศึกษาปริมาณไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ระยะเวลาการใช้งานและความเข้มข้นของ HPV ที่เหมาะสมที่สุดในการฆ่าเชื้อ รวมถึงเตรียมการตรวจสอบโครงสร้างของเส้นใยของหน้ากาก N95 และทดสอบประสิทธิภาพการกรองซ้ำหลังการฆ่าเชื้อ ว่าอุปกรณ์ไม่ได้รับความเสียหาย สามารถนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย
โดยเน้นย้ำว่าในส่วนของการดำเนินการห้องฆ่าเชื้อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นสถานที่จริงนั้นจะต้องมีระบบการทำงานที่รัดกุม ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน ด้วยเหตุนี้ ทีมงานได้เตรียมจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติการมาตรฐาน (Standard Operating Principles: SOP) ของการใช้และบริหารจัดการอุปกรณ์แต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางให้กับโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ มจธ. มีแผนที่จะส่งมอบห้องพร้อมระบบฆ่าเชื้อและขั้นตอนการปฏิบัติการมาตรฐาน รวมถึงให้การอบรมบุคลากรของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อให้สามารถดำเนินการได้จริงภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้
หากหน่วยงานหรือโรงพยาบาลใด มีความสนใจในระบบฆ่าเชื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ที่ มจธ. พัฒนาขึ้นนี้ สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ ดร.ขจรวุฒิ อุ่นใจ ผู้จัดการโครงการฯ โทร. 0869722533