รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า มจธ. และ SEAC ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร ทั้งในรูปแบบหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E – learning) ระบบออนไลน์ (Online Learning ) แบบห้องเรียน (Classroom Learning) และรูปแบบอื่นๆ ให้กับผู้เรียน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ นักศึกษา บุคลากรในภาคธุรกิจ และบุคคลทั่วไป เพื่อสร้างกำลังคนคุณภาพที่มีทักษะทั้ง ความรู้เชิงเทคนิค (Hard Skills ) และความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน (Hyper-Relevant Skills) ให้เป็นที่ต้องการสู่ตลาดแรงงานไทยและภูมิภาคอาเซียน สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้นักศึกษาและผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ง่าย ด้วยระบบบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่น เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ทักษะใหม่ (reskill) หรือ ต่อยอดยกระดับทักษะ (up-skill)
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ในระบบการทำงานเพราะทุกคนสามารถเรียนรู้และสร้างงานที่มีคุณค่าได้ โดยระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยจะออกจากกรอบ “เวลา” แบบเดิม คือเปิดรับผู้เรียนทุกช่วงวัย ด้วยรูปแบบหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นอิสระไม่แบ่งตามภาคการศึกษา และวิธีการวัดผลที่ปรับตามไปด้วย ซึ่งนักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนเสริมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
สำหรับบุคคลทั่วไปสามารถลงเรียนในหลักสูตรประกาศณียบัตร หรือเก็บรวบรวมรายวิชาที่เรียนไว้เทียบหน่วยกิตในหลักสูตรปริญญาได้ เพื่อผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ด้วยความร่วมมือในระยะยาวโดยเชื่อว่าจะช่วยยกระดับศักยภาพของคนวัยทำงานกว่า 38 ล้านคน และนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้มากขึ้น เพราะประชากรในอนาคต ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ทักษะชีวิตและความสามารถในการเรียนรู้ ซึ่งถ้าปลูกฝังให้มี 2 สิ่งนี้จะสามารถทำงานอะไรก็ได้ เพราะปัจจุบันโลกของเทคโนโลยีมีความรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
ด้านนางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (Southeast Asia Center) กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือกันในครั้งนี้มีขอบเขตภายใต้โครงการ “สร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริม การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)” เป็นระยะเวลา 3 ปี ระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน 2563 – 17 มิถุนายน 2566 โดยในปีแรกจะมีโครงการนำร่องภายในประเทศ อาทิ ร่วมมือกันออกแบบคอร์สเพื่อสร้างกลุ่มอาชีพใหม่ ป้อนภาคการศึกษา ได้แก่ Online Instructional Designer (นักออกแบบการสอนแบบออนไลน์), Virtual Learning Facilitator (อาจารย์เกื้อหนุนสำหรับการเรียนแบบออนไลน์) และ Data Scientist Facilitator (อาจารย์เกื้อหนุนด้าน Data Science) นอกจากนี้ยังมีแผนการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรด้าน Business Mindset ให้กับบุคลากร สายวิทยาศาสตร์ นักวิจัย รวมถึงการจัดเรียนการสอนเพื่อรองรับนโยบาย Social Distancing เป็นต้น อีกทั้งในอนาคต มจธ. และ SEAC มีแผนที่จะขยายโครงการไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดเส้นแบ่งเขตแดนของการศึกษาและแรงงาน พัฒนาศักยภาพของกำลังคนให้มีคุณภาพทัดเทียมกัน เพิ่มขีดความสามารถของแรงงานในภูมิภาค รวมถึงผนึกความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำของโลก
“สิ่งที่ทาง มจธ. และ SEAC ทำร่วมกันในวันนี้ เป็นการเติมเต็มในสิ่งที่ประเทศเราขาด นั่นคือความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อทำให้เกิด Ecosystem ที่แข็งแกร่ง มีจุดเด่นอยู่ที่ “วิธีการ” คือเราทำงานร่วมกัน เพื่อตอบจุดมุ่งหมายเดียวกัน การลงนามความร่วมมือนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญของวงการศึกษาและวงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในหลายๆ มิติที่สถาบันการศึกษาของภาครัฐจับมือกับองค์กรด้านการเรียนรู้ภาคเอกชนเพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกำลังคนคุณภาพให้กับประเทศไทย ผสานความเข้มแข็งของทั้งสององค์กร ลดปัญหาแรงงานไม่มีคุณภาพ หรือ การผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการ รวมทั้งปัญหาการว่างงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม”