นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ได้กล่าวถึงมาตรการสนับสนุนธุรกิจ SMEs ว่า “ในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา เราสามารถเห็นได้ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงบริษัทในเครือ Sea (ประเทศไทย) ได้ออกมาผลักดันมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเราพบว่าผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มที่เป็นผู้ใช้งานเดิมของช้อปปี้มีอัตราการเติบโตของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นและมีแผนในการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่ปรับตัวเข้ามาขายของบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของช้อปปี้ ซึ่งต้องการได้รับการสนับสนุนในการเริ่มต้นธุรกิจทั้งด้านความรู้ด้านการทำการตลาดแบบออนไลน์ รวมถึงการได้รับทรัพยากรด้านเงินลงทุนในช่วงแรก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครการ “Shopee Seller Support Package” ซึ่งจัดทำร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการให้ความรู้และการสนับสนุนร้านค้าที่เข้ามาลงทะเบียนร่วมโปรแกรมเพื่อรับรายการสนับสนุนต่างๆรวมมูลค่า 5,000 บาท และสิทธิประโยชน์จากช้อปปี้ในการเริ่มต้นธุรกิจ รวมไปถึงการสนับสนุนด้านการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นการเติบโตของการเข้าชมร้านค้าและยอดขาย ซึ่งได้รับความสนใจจากพ่อค้าแม่ค้าทั่วประเทศไทย”
“นอกจากการสนับสนุน SMEs แล้ว อีกกลุ่มเป้าหมายที่ Sea (ประเทศไทย) เล็งเห็นว่ามีความเปราะบางได้แก่กลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่จากครอบครัวที่มีรายได้น้อย ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การเลื่อนเปิดเทอมทั่วประเทศไทย และชีวิตความเป็นอยู่ที่อาจได้รับผลกระทบจากรายได้ครัวเรือนที่ลดลงและการเลื่อนเปิดเทอมดังกล่าว” นางสาวมณีรัตน์ กล่าวเสริม
นอกจากการสื่อสารผ่านคอมมูนิตี้การีนาซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งรวมตัวของคนรุ่นใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและวัยรุ่นได้รับทราบและมีความเข้าใจเกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์ COVID-19 อย่างถูกต้องแล้ว Sea (ประเทศไทย) และการีนา (ประเทศไทย) ยังต่อยอดการดูแลกลุ่มเยาวชนผ่าน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการมอบทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยการีนา (ประเทศไทย) สมทบทุนร่วมกับมูลนิธิยุวพัฒน์เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาส และร่วมมือกับแอพพลิเคชันการศึกษา StartDee ซึ่งมีเนื้อหาครบทุกวิชาหลัก ตั้งแต่ ป.1 - ม.6 ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อมุ่งส่งเสริมให้เยาวชนในครอบครัวที่มีรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงช่องทางการเรียนรู้ทางเลือกที่มีความยืดหยุ่น ตอบโจทย์การจัดสรรเวลาของเด็กๆ และส่งเสริมให้การเรียนรู้ภายในโรงเรียนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
และ 2. โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชนในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ทั้งการสนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อจัดหาอาหารให้แก่นักเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวนทั้งสิ้น 761,729 คน ที่มาจากครอบครัวซึ่งมีรายได้น้อยที่สุด 20% ของประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาอาหารกลางวันในโรงเรียนเป็นอาหารมื้อหลัก ตลอดจนการให้ทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลเด็กเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ด้อยโอกาส