กรุงเทพมหานคร พลิกโฉมครั้งใหญ่ จากการมาของเทคโนโลยี โครงข่ายรถไฟฟ้า กระจายความเจริญเข้าสู่พื้นที่ ส่งผลให้คณะกรรมการกฎบัตรแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่ผู้ประสานความร่วมมือการพัฒนาเมืองร่วมกับท้องถิ่นภาคมหาวิทยาลัยและชุมชน ออกแบบเมืองให้เป็นย่านเศรษฐกิจอัฉริยะ สร้างมูลค่าดึงคนเข้าพื้นที่ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างอาชีพ หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายโดยเริ่มนำร่อง 4 ย่านศักยภาพ ก่อนขยายไปยังโซนอื่นและ พื้นที่ต่างจังหวัด
4ย่านอัจฉริยะ
นายฐาปนา บุณยประวิตร กรรมการและเลขานุการกฎบัตรฯแห่งชาติ เปิดเผยว่ากฎบัตร ได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาพื้นที่4 ย่านศักยภาพ ประกอบด้วย เกาะรัตนโกสินทร์ พื้นที่เยาวราช อโศก ที่ประเมินว่าจะพัฒนา ลากยาวตั้งแต่สี่แยกอโศกถึงพระราม 9 และอีกย่านที่ จับตา ได้แก่ เตาปูน มองว่า เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีนํ้าเงิน อีกทั้งกำลังเชื่อมต่อรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีม่วง
เริ่มจากบริเวณเยาวราช ไชน่าทาวน์เมืองไทย ระยะทาง 580 เมตร ให้เป็นย่านอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับร้านค้าในพื้นที่และพัฒนาให้เป็นพื้นที่การเดินลดการใช้รถยนต์ ขยายทางเท้าเพิ่มพื้นที่การเดิน ปรับปรุงท่อระบายนํ้า จัดระเบียบการเดินรถ ปรับปรุงแสงสว่าง ติดตั้งเสาอัจฉริยะให้บริการฟรีไวไฟ และกล้องวงจรปิด ขณะที่ร้านค้าย่านเยาวราชต้องมีการลงทุนปรับปรุงหน้าร้าน โดยที่ผ่านมามีการหารือกับ กทม.มาตลอด เชื่อว่าหากผู้บริหารชุดนี้ยังอยู่ จะสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ ส่วนงบประมาณการพัฒนาพื้นที่อยู่ที่ราว 30 ล้านบาท โดยกฎบัตรจะเป็นผู้ออกแบบให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
จุดพลุรอบเกาะฯ
ส่วนย่านอัจฉริยะที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก่อน คือ เกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณท่าพระจันทร์–ท่าช้าง ถนนมหาราช ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการและออกแบบโดยขณะนี้ระหว่างการขออนุญาตจากสำนักพระราชวัง และกรมธนารักษ์
ขณะที่ย่านอัจฉริยะ อโศกเริ่มศึกษารูปแบบพัฒนาที่เหมาะในปี 2564 โดยครอบคลุมตั้งแต่แยกอโศกถึงแยกพระราม 9 ซึ่งมีแยกอโศกศูนย์การค้าขนาดใหญ่ มีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีสถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน ซึ่งกลุ่มซีพี อยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ขณะที่แยกพระราม9 มีห้างเซ็นทรัลพระราม 9
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รื้อผังเมือง! เอื้อ “เจ้าสัว” ... กทม. วางเกณฑ์ 200 ไร่ ปรับโซน-เนรมิตตึกสูงกระตุ้นลงทุน
ดูดคนวันละ 3 ล้าน
สุดท้ายคือย่านอัจฉริยะ บริเวณเตาปูน บางโพ ที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง และศูนย์กลางบางซื่อ มีประชาชนใช้บริการวันละ 3 ล้านคน อย่างไรก็ตามในเขตพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นที่พักอาศัย คอนโดมีเนียม แต่คาดพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการพื้นที่ราว 200,000 ตารางเมตร และระบบฟีดเจอร์ เชื่อมต่อการเดินทางไปยังรัฐสภาที่มีปริมาณคนหมุนเวียนวันละ 45,000 คนและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มีผู้คนไหลเวียนในพื้นที่ประมาณ 100,000 คน
กทม.บูมย่านศก.
แหล่งข่าวจากกรุงเทพ มหานคร เปิดเผยว่า การทำเมืองอัฉริยะ ไม่จำเป็น ต้องเน้นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนเสมอไปในทางกลับกัน ต้องการให้ ทุกคนในพื้นที่ อยู่ได้และได้รับอานิสงค์จากความเจริญที่แผ่ขยายเข้ามา พื้นที่ เล็กๆในตรอกซอกซอย สามารถ ทำประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ ดังนั้นในภาพใหญ่ ต้องส่งเสริมให้แต่ละย่านที่รถไฟฟ้า พาดผ่าน สร้างผลตอบแทนให้ชุมชนอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด โดยดึงคน ที่เดินทางจากรถไฟฟ้าแวะพักสร้างแหล่งจับจ่าย ขณะเดียวกันกทม.ได้จัดสรรงบประมาณลงทุน ปรับทัศนียภาพให้ น่าอยู่น่ามองเช่นกัน
เช่นเดียวกับย่านสำคัญที่กทม.พัฒนาปรับภูมิทัศน์มาก่อนหน้านี้ได้แก่ เกาะรัตนโกสินทร์ และอนาคต มีรถไฟฟ้าเชื่อมเข้า พื้นที่ ดังนั้น โอกาสจากความเจริญที่เข้ามา กับความทรงคุณค่า ทางโบราณสถาน วัดวัง สามารถเติบโตควบคู่ไปด้วยกับส่งผลให้บริเวณนี้กลายเป็นย่านที่ ประชาชนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ให้ความนิยมสูง ล่าสุดรัฐบาลขยายเขต พื้นที่อนุรักษ์เพิ่มเป็นกว่า 3,000 ไร่ รองรับรถไฟฟ้าส่งเสริม อนุรักษ์ เมืองเก่า วัดวัง โบราณสถาน แม่เหล็กสำคัญ ดึงคนเข้ามาดังกล่าว
ยกตัวอย่างถนนราชดำเนินปลุกเมืองเก่า จัดทำโครงการ Bangkok Digital Art and Design 2020 หรือ BIDD2020 โดยกทม.จะใช้พื้นที่บนถนนราชดำเนินกลางทั้ง 2 ฝั่งเป็นสถานที่จัดแสดงหลัก เป็นโซนนิทรรศการ และพื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่ของเกาะรัตนโกสินทร์ ได้แก่ ชุมชนเยาวราช พาหุรัด เวิ้งนาครเขษม ท่าเตียน ท่าพระจันทร์ พระอาทิตย์ บางลำพู ย่านมรดก ชุมชนเก่าแก่ ซึ่งจะให้ผู้ประกอบการและชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่ร่วมกันจัดกิจกรรม คาดว่างานเทศกาลศิลปะและการออกแบบดิจิทัลนานาชาติช่วง 30 วันนี้จะมีผู้เข้าชมไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคน สามารถฟื้นฟูย่านและเศรษฐกิจพื้นที่เขตชั้นใน ได้แก่ ย่านสำเพ็ง พาหุรัด เวิ้งนาครเขษม ท่าเตียน ท่าพระจันทร์ แพร่ง สรรพศาสตร์ บางลำพู และพื้นที่ต่อเนื่องได้
ข่าวหน้า1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,605 วันที่ 30สิงหาคม-2กันยายน พ.ศ. 2563