ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุปราณี วัฒนสิน นักวิชาการสื่อ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หัวหน้าโครงการ ‘ฅนทันสื่อ’ เปิดเผยว่า โครงการ “ส่งเสริมการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ ของประชาชน ‘ฅนทันสื่อ’ ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการจาก กทปส. ในการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด การสร้างการรู้เท่าทันสื่อ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ใน 3 หลักคิดสำคัญ ดังนี้
1. เข้าถึง การรู้จัก/เข้าถึงสื่อในช่องทางที่หลากหลาย ทั้งสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) ที่ครอบคลุมสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อใหม่ (New Media) อย่างสื่อสังคมออนไลน์ รู้จักโครงสร้างสื่อ ภูมิทัศน์สื่อในยุคสื่อหลอมรวม และการกำกับและดูแลสื่อของไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมถึง รู้สิทธิ รู้กฎ และหลักจรรยาบรรณของสื่อมวลชน
2. เข้าใจ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (Critical thinking) ได้อย่างมีระบบ ทั้งการคิดเป็น ที่คิดแบบมีวิจารณญาณ หรือคิดเชิงวิพากษ์ การเปิดใจกว้างในการเห็นต่าง มองเห็นเข้าใจ และเคารพความแตกต่างซึ่งกันและกัน การคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม และการเท่าทันสื่อ มีความสามารถในการวิเคราะห์และใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจถึงวัตถุประสงค์และประโยชน์ของเนื้อข่าวหรือข้อมูลที่ปรากฏในสื่อรูปแบบต่าง ๆ อย่างแท้จริง ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม หรือการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์
3. เข้าร่วม การมีส่วนร่วมกับสื่อ ในฐานะพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Active Citizen) ด้วยการไม่เพิกเฉยต่อข้อมูลที่บิดเบือนหรือผิดไปจากความจริง ผ่านรูปแบบกิจกรรมที่เน้นสร้างการเรียนรู้อย่างอิสระ กำหนดประเด็นและทักษะสำคัญ แต่ไม่กำหนดกรอบการคิด การรู้เท่าทันสื่อ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนมีทักษะในการใช้วิจารณญาณ
สำหรับกิจกรรม “การพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อ” จะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะในช่วงเวลา 12 เดือน ดังนี้
ระยะที่ 1 คัดเลือกแกนนำ การจัดอบรมหรือถ่ายทอดองค์ความรู้แก่สถานศึกษา ระดับมัธยมและอุดมศึกษา จำนวน 36 แห่ง พร้อมคัดเลือกแกนนำ (รุ่นที่ 1) ที่มีความรู้ความเข้าใจ ถึงทักษะสำคัญด้านการรู้เท่าทันสื่อจำนวน 6 คน ผ่านการศึกษากรณีตัวอย่างเพื่อให้เกิดกระบวนการคิดเท่าทันในทุกบริบทสังคม อาทิ ‘เท่าทันบริโภคนิยม’ การไม่หลงเชื่อโฆษณาหลอกลวงเกินจริง ‘เท่าทันการเมือง’ ‘เท่าทันตนเองและสังคม‘ โดยต้องอาศัยทักษะความสามารถในการ "ใช้สื่ออย่างรู้ตัว" และ "ใช้สื่ออย่างตื่นตัว"
ระยะที่ 2 ขยายเครือข่ายเท่าทันสื่อ การขยายผลทักษะความรู้ด้านการเท่าทันสื่อแก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ใกล้เคียงสถานศึกษา จำนวน 100 คน ผ่านการลงพื้นที่สำรวจปัญหาของชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงสถานศึกษา พร้อมจัดทำแผนการสื่อสารให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย โดยตั้งเป้าเกิดเครือข่ายเท่าทันสื่อรวม 3,600 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งนี้การดำเนินการในระยะดังกล่าว กำหนดจัดขึ้นในเดือน ธันวาคม2563 เป็นต้นไป
ด้าน นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการ กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) กล่าวเสริมว่า การเข้าถึงสื่อและสารสนเทศ นับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองและสิทธิมนุษยชน ในสังคมประชาธิปไตยที่พลเมืองอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย ทั้งด้านความคิด พฤติกรรมและการศึกษา ดังนั้น การเข้าถึง เข้าใจ เท่าทัน และใช้สื่อ สารสนเทศ เทคโนโลยีดิจิทัล จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อประการหนึ่ง ที่สนับสนุนให้ “ประชาชน” ในฐานะ “ผู้รับสาร” มีสิทธิเลือกใช้สื่อได้ตามความเหมาะสม และก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว
กทปส. ยังคงมุ่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายอัจฉริยะ พร้อมสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนางานวิจัย เพื่อยกระดับกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม การเข้าถึงสื่อและสารสนเทศ นับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองและสิทธิมนุษยชน ในสังคมประชาธิปไตยที่พลเมืองอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย ดังนั้น การเข้าถึงเข้าใจ เท่าทัน และใช้สื่อ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อประการหนึ่ง ที่สนับสนุนให้ “ประชาชน” ในฐานะ “ผู้รับสาร” มีสิทธิเลือกใช้สื่อได้ตามความเหมาะสม