ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอลจี อีเลคทรอนิคส์ อิงค์ (แอลจี) ได้เปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 มีรายได้รวม 14.24 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 4.41 แสนล้านบาท) และผลกำไรจากการดำเนินงาน 807.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.50 หมื่นล้านบาท) สร้างสถิติยอดขายและผลกำไรประจำไตรมาสที่ 3 สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ 62 ปีของแอลจี เป็นผลมาจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและกลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งมียอดขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 และผลกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องปรับอากาศ รายงานรายได้ประจำไตรมาสที่ 3 ที่ 5.18 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.61 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมียอดขายประจำไตรมาสสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์จากความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมเทคโนโลยี Steam เช่น เครื่องซักผ้าและตู้ถนอมผ้า LG Styler และยังได้สร้างสถิติผลกำไรจากการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 3 สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 565.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.75 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.6 จากไตรมาสเดียวกันกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ กำไรจากการดำเนินงานที่ร้อยละ 10.9 ยังนับเป็นการสร้างกำไรจากการดำเนินงานประจำไตรมาสในอัตราเลขสองหลักต่อเนื่องเป็นครั้งที่สาม และคาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 จากกลยุทธ์ในการลดต้นทุนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
กลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ประกาศยอดขายในไตรมาสที่ 3 ที่ 3.09 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 9.58 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นผลจากความต้องการที่สูงขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์พรีเมียม เช่น ทีวี OLED และทีวีขนาดใหญ่ ในตลาดที่เติบโตเต็มที่อย่างอเมริกาเหนือและยุโรป ส่วนผลกำไรจากการดำเนินงานที่ 274.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 8.52 พันล้าน) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 13.2 เป็นผลจากแผนการลงทุนด้านการตลาดที่มีกลยุทธ์มากยิ่งขึ้น แม้จะต้องประสบความท้าทายจากราคาจอ LCD ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าสานต่อความสำเร็จด้วยการเพิ่มสัดส่วนทีวีพรีเมียมและยอดขายทางออนไลน์มากขึ้น
กลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ สร้างยอดขาย 1.28 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.79 หมื่นล้านบาท) ในไตรมาสที่ 3 ยังคงระดับต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 16.5 ในขณะที่ผลการดำเนินงานขาดทุนน้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่ 124.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.87 พันล้านบาท) เนื่องจากการเพิ่มศักยภาพในการผลิต การลดต้นทุนจากการผลิตสินค้าแบบ ODM (original design manufacturing) และความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดรวม ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังวางแผนที่จะเสริมความแข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดรวมในอเมริกาเหนือและละตินอเมริกา พร้อมเดินหน้าพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เผยรายได้ประจำไตรมาสที่ 1.39 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 4.31 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานขาดทุน 55.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.73 พันล้านบาท) ซึ่งขาดทุนน้อยลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากจากการเริ่มต้นการผลิตแบบ OEM อีกครั้ง รวมถึงการบริหารต้นทุนในอเมริกาเหนือและยุโรป โดยในไตรมาสที่ 4 บริษัทฯ ได้วางแผนเพิ่มยอดขายจากการบริหารจัดการซัพพลายเชนอย่างจริงจัง และเพิ่มผลกำไรมากขึ้นด้วยการจัดการต้นทุนที่ดียิ่งขึ้น
กลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร สร้างยอดขายในไตรมาสที่ 3 ที่ 1.25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.88 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 จากไตรมาสก่อนหน้านี้ และลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผลกำไรจากการดำเนินงานที่ 64.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.01 พันล้านบาท) ลดลงร้อยละ 31.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กรให้ดียิ่งขึ้นในไตรมาสสุดท้าย ทางบริษัทวางแผนที่จะเน้นให้ความสำคัญกับโอกาสในการเพิ่มยอดขายผ่านช่องทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น รวมถึงปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ และดำเนินกิจกรรมทางการตลาดแบบออนไลน์อย่างแข็งแกร่งมากขึ้น