ประเทศไทยกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2568 โดยจะมีประชากรที่มีอายุ มากกว่า 60 ปี เพิ่มขึ้นประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และจะมีผู้สูงอายุ 1 คนในทุกๆ 5 คนเป็นโรคเบาหวาน สหพันธ์เบาหวานนานาชาติได้คาดการณ์ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี พ.ศ. 2583 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเบาหวานสูงถึง 5.3 ล้านคน ซึ่งในปัจจุบันมีรายงานว่าในกลุ่มประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคเบาหวานสูงถึง 4.8 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มนี้ มีผู้ป่วยมากกว่า 2 ล้านคนที่ยังไม่ทราบว่าตนเองป่วยหรือยังไม่ได้รับการวินิจฉัย
นพ. เพชร รอดอารีย์ เลขาสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยว่า “สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งในแต่ละปี ประเทศไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานเฉลี่ยสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี และสิ่งที่น่ากังวลคือ มีคนไทยที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานอีก 7.7 ล้านคน ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานหรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งคาดว่ากลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ จะกลายเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานในอัตราร้อยละ 5-10 ต่อปี ซึ่งสามารถป้องกันได้”
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังพบว่าจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลักจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ซึ่งเกิดจากที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ หรือไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดเป็นเบาหวานได้ ซึ่งหากปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ตับอ่อนผิดปกติไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ หรือผลิตได้น้อยลง ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
“ที่ผ่านมา สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยเบาหวานที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยอินซูลินให้ได้รับความรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับการใช้อินซูลิน และให้เห็นถึงประโยชน์ในการดูแลตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากโรคเบาหวานที่จัดการได้ไม่ดี หรือไม่ได้รับการรักษาดีที่เพียงพอ อาจส่งผลให้เกิดภาวะทุพพลภาพและภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคตา โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด และการถูกตัดเท้าหรือขา”
นพ. เพชร รอดอารีย์ กล่าวในขณะที่ประเทศไทย ยังมีบุคลากรทางการแพทย์ค่อนข้างจำกัด ทำให้ไม่สามารถให้ความรู้ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายได้อย่างลึกซึ้ง รวมถึงประเทศไทยยังไม่มีสื่อการเรียนระบบออนไลน์สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยอินซูลิน ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งในบางครั้งผู้ป่วยอาจได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากโลกออนไลน์ บ้างก็ไม่มีแหล่งที่มาของข้อมูล อาจเกิดความเข้าใจผิดในการใช้อินซูลินได้
เนื่องในวันเบาหวานโลก ปี 2563 นี้ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ และสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน ร่วมกับบริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด มีเจตนารมณ์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงได้ร่วมกันจัดทำสื่อการเรียนออนไลน์ (e-Learning) บนเว็บไซต์ www.t2dminsulin.com เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ต้องใช้อินซูลินและผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในการใช้อินซูลินได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลายทั้งคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต
อีกทั้ง ผู้ที่ลงทะเบียนยังสามารถทำแบบทดสอบก่อนและหลังเรียนเพื่อทดสอบความเข้าใจหลังเข้าเรียน และจะได้รับประกาศนียบัตรออนไลน์หลังจากได้ทำการเรียนในแต่ละบทเรียนเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่าสมาชิกได้เรียนครบถ้วน และเป็นอีกแรงจูงใจให้สมาชิกที่ลงทะเบียนตั้งใจที่จะเรียนรู้ โดยโครงการ e-Learning บนเว็บไซต์ www.t2dminsulin.com ได้เปิดให้ผู้ป่วย ผู้ดูแล รวมทั้งประชาชนทั่วไปเข้าไปลงทะเบียนเรียนออนไลน์ ได้ตั้งแต่ 18 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป
ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ ศรินนภากร นายกสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน กล่าวเสริมว่า “สื่อโครงการ e-Learning บนเว็บไซต์ www.t2dminsulin.com ถือเป็นอีกสื่อกลางที่ให้ความรู้โรคเบาหวานที่ทันสมัย เหมาะกับยุคดิจิทัล ด้วยเนื้อหาที่เข้าใจง่าย สะดวก เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งได้ออกแบบเป็นตัวการ์ตูนแอนิเมชั่น และมีเกมสอดแทรกความรู้เพื่อให้สนุกสนานกับการเรียนรู้ เพิ่มความน่าสนใจ และจดจำได้ง่ายขึ้น รวมถึงมีการประเมินผลการเรียนพร้อมได้ใบประกาศนียบัตร โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุมถึง 8 เรื่องหลักๆ ประกอบด้วย ทำไมอินซูลินถึงมีความสำคัญ, ชนิดของอินซูลิน, การเริ่มใช้อินซูลิน, การจัดการเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, การใช้เครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว และความจำเป็นของการปรับขนาดยาอินซูลิน, การเก็บอินซูลิน และการพกพาอินซลูิน, อาหารและการออกกำลังกาย และความเข้าใจผิดและความจริงเกี่ยวกับอินซูลิน เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ดูแลผู้ป่วย ผู้ที่สนใจ และบุคลากรทางการแพทย์ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ในระบบเดียว”
ทั้งนี้ หัวใจสำคัญในการก้าวไปสู่การดูแลผู้ป่วยเบาหวานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สำคัญที่สุดคือภาคประชาชน หวังว่าสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ e-Learning ที่ร่วมกับพัฒนาขึ้นมานี้ จะเป็นสื่อกลางที่ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างกำลังใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้กับผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 ที่ต้องใช้อินซูลิน ได้เรียนรู้วิธีการดูแลรักษาโรคเบาหวานด้วยตนเองให้เกิดผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจ และสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น