นายฮุย เวง ชอง กรรมการผู้อำนวยการ เอไอเอส กล่าวว่า แผนการทดลองทดสอบเครือข่าย 5G ในพื้นที่โรงงานจริงในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างเอไอเอสและ Bosch ที่ได้ลงนามร่วมกันในบันทึกความเข้าใจหรือ MOU เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาการใช้งาน 5G ในอุตสาหกรรมโดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุน กระบวนการสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักรให้สามารถทํางานเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดความเสี่ยงหรือข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในสายการผลิต นอกจากนี้ความร่วมมือดังกล่าวยังมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย รวมทั้งเสริมสร้างการถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคลากรทุกคนในอีโคซิสเต็มที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกัน
“เอไอเอส มีความตั้งใจที่จะพัฒนาเครือข่าย 5G ให้รองรับความต้องการใช้งานของคนไทยทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องการนำความสามารถของเครือข่าย 5G ไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในโรงงานและพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ล่าสุด เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกับ Bosch ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นบริษัท IoT ชั้นนำระดับโลก ในการนำเครือข่าย 5G เข้ามาเสริมประสิทธิภาพให้กับโซลูชันในโรงงานอุตสาหกรรมของ Bosch ในพื้นที่โรงงานจริงเป็นครั้งแรกของไทย ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC”
ด้านนายโจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ Bosch ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ กล่าวว่า Bosch ได้เริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับ 5G มาตั้งแต่ต้นปี 2557 เราเล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยี 5G ที่เปรียบเสมือนตัวปลดล็อกนวัตกรรมในโดเมนต่างๆ เช่น การขับเคลื่อนอัตโนมัติ, ระบบนำทางอัตโนมัติ (AGV), IoT สำหรับภาคอุตสาหกรรม, รวมถึงระบบการขนส่งอัตโนมัติและอื่น ๆ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนภาคการผลิต อันเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย และ 5G จะช่วยทำให้วิสัยทัศน์ของ ‘โรงงานแห่งอนาคต’ (Factory of the Future) ในประเทศไทยเกิดขึ้นจริง ในครั้งนี้ เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับเอไอเอส ซึ่งถือเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเครือข่าย 5G อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง 5G จากเอไอเอสประกอบกับโซลูชันของ Bosch ไม่จำกัดเฉพาะการติดตั้งในโรงงานสร้างใหม่แต่ยังสามารถนำไปปรับใช้กับระบบโรงงานหรือเครื่องจักรที่มีอยู่เดิม โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักรรวมถึงกระบวนการอื่นๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนสามารถตรวจสอบและควบคุมเครื่องจักรจำนวนมากแบบไร้สายได้จากระยะไกล การถ่ายโอนข้อมูลแบบเรียลไทม์มีความน่าเชื่อถือช่วยทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยให้ก้าวไปอีกขั้น