พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าวจัดขึ้น ณ ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช โดยมี นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ลงนาม
ความร่วมมือฯ ดังกล่าว สอดคล้องกับพันธกิจของโรงพยาบาลศิริราช ที่ต้องการยกระดับบริการด้วยการก้าวสู่การเป็นศูนย์การแพทย์อัจฉริยะที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการผสมผสานโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี 5G, AI, Big Data และการประมวลผลแบบ Cloud Edge เพื่อเสนอบริการที่เหนือระดับกว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในหลายด้าน เช่น การติดตามผู้ป่วย การวิเคราะห์โรคด้วยการใช้เทคโนโลยี AI บน Cloud การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งล้วนเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของโรงพยาบาลศิริราช ในการก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ชั้นนำและเป็นผู้นำด้านการดูแลรักษาสุขภาพของประเทศไทย
ภายใต้ข้อตกลงระยะเวลา 5 ปีนี้ หัวเว่ยจะสนับสนุนด้านเทคโนโลยี 5G ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ รวมถึงแบ่งปันความรู้ และร่วมมือกับนักวิจัยและคณาจารย์ทางการแพทย์ของศิริราชในการจัดทำโครงการ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาโครงการที่จะเกิดขึ้นในระหว่างความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงฉบับนี้
นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และหัวเว่ย ยังร่วมผนึกกำลังเพื่อพัฒนาอีโคซิสเต็ม 5G ต่อไป มุ่งส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบของการจัดกิจกรรมสาธิตและนิทรรศการ ทั้งยังเสาะหาความร่วมมือด้านวิชาการ ตลอดจนจัดการฝึกอบรมหรือถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อศึกษานวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยี 5G, AI, Cloud และอื่น ๆ
โอกาสนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังได้รับรางวัล CommunicAsia 2020 ในสาขา “การทดสอบ 5G ที่มีนวัตกรรมสร้างสรรค์ที่สุดในโเอเชียแปซิฟิก” (Most Innovative 5G Trial in Asia Pacific) จากความสำเร็จในการนำโซลูชันการตรวจวิเคราะห์โควิด-19 ด้วยเทคโนโลยี 5G+Cloud+AI มาใช้ในการวินิจฉัยโรค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำในการตรวจวิเคราะห์ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค
“นับเป็นโอกาสดีที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้จับมือเป็นพันธมิตรกับหัวเว่ยในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านบริการของเรา และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดีขึ้น ทั้งยังถือเป็นก้าวแรกในการพัฒนาโรงพยาบาลรัฐอัจฉริยะ 5G แห่งแรกในประเทศไทย โอกาสนี้ ผมขอขอบคุณหัวเว่ยที่ให้ความร่วมมือในการนำนวัตกรรมบนรากฐานเทคโนโลยี 5G, Cloud และ AI มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ และร่วมผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเสมอมา” ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ กล่าว
ด้านนายอาเบล เติ้ง กล่าวว่า “ภาคการดูแลสุขภาพจะได้ประโยชน์มหาศาลจากนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะในยุคดิจิทัล เราต้องการที่จะเดินเคียงข้างไปกับประเทศไทยเพื่อพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่แข็งแกร่งและเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อให้ชุมชนที่อยู่ห่างไกลมีโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากยิ่งขึ้น และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป”