ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA ตั้งใจที่จะพัฒนาพื้นที่ปุณณวิถีสู่ “ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค” แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม ไลฟ์สไตล์ ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของเมือง ซึ่งย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคในพื้นที่ปุณณวิถี จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการทำธุรกิจนวัตกรรม การลงทุน รวมถึงเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดิจิทัล การลงทุนของต่างชาติ สถาบันเฉพาะทางด้านดิจิทัลความเป็นอยู่และสังคมที่มีความอัจฉริยะมากขึ้น ทั้งนี้ NIA ได้ร่วมมือกับเครือข่ายในการพัฒนาย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากการดำเนินการที่ผ่านมาส่งผลให้สามารถจัดตั้งศูนย์บริการผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น(District C-One-stop Service Center) ซึ่งเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือสตาร์ทอัพ ทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมให้สตาร์ทอัพนำ Deep Tech เข้ามาใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้แก่นวัตกรรมที่ดำเนินการอยู่
สำหรับแผนการพัฒนาย่านไซเบอร์เทคนั้นเอ็นไอเอ ได้วาง ปัจจัยส่งเสริมและพัฒนา 3 ด้าน คือ 1. แผนพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะเร่งดำเนินเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ส่งเสริมการดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาใช้พื้นที่ภายในย่าน 2. แผนพัฒนาด้านกายภาพโดยส่งเสริมการปรับปรุงผังเมืองเพื่อรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลภายในย่าน พัฒนาพื้นที่ภายในเป็น Test Based Area สำหรับอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี ในรัศมี 800 เมตรจากศูนย์กลางย่าน และ 3. แผนพัฒนาด้านเครือข่าย ซึ่งจะเน้นทั้งการสร้างเครือข่ายระบบนิเวศสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพรายใหม่ภายในย่าน การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) กับศูนย์วิจัยด้านอนาคตศึกษาของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์คอร์ปอเรชั่น จํากัด (MQDC) หรือศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FTL) ที่จะนำเครื่องมือด้านการมองอนาคต (Foresight) มาใช้ในการออกแบบอนาคต เพื่อสร้างความเปลี่ยน แปลงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งศึกษาความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของการใช้ชีวิต โดยมีเป้าหมายการพัฒนาสำคัญ 3 ด้านได้แก่ 1. พัฒนาเครือข่ายนักอนาคตศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและ ระดับนานาชาติ 2. พัฒนาความร่วมมือในการศึกษาและวิจัยด้านการมองอนาคต และ 3. ส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศและองค์ความรู้สู่สาธารณะ
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FTL) เป็นศูนย์วิจัยของบริษัทเอกชนรายแรกที่ทำการวิจัยด้านอนาคตศาสตร์ เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตในอนาคต โดยใช้เครื่องมือการมองอนาคตเพื่อสะท้อนภาพของการอยู่อาศัย การทำงาน การเรียนรู้ การคมนาคมขนส่ง
ด้านนายฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวต่อว่า ทรูดิจิทัล พาร์ค ถือเป็นพื้นที่ทางนวัตกรรมดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบที่สุดในกรุงเทพฯ และในประเทศ หลังจากที่พัฒนาพื้นที่แห่งนี้มาได้ 3 ปี การส่งเสริมในมิติของทรูฯ และ NIA ได้เริ่มเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลากหลายด้าน ทั้งการจัดตั้งสำนักงานของบริษัทต่างๆ จำนวน 53 ราย มีจำนวนพนักงานที่ทำงานในบริษัทเหล่านี้กว่า 4,000 คน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่า โอกาสในการจ้างงานในด้านดิจิทัลของประเทศไทยจะมีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เติบโตตามไปด้วย
นอกจากนี้ยังมีความสำเร็จอื่นๆ ทั้งการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติจำนวน 8 ประเทศ มีสตาร์ทอัพกว่า 90 รายที่เข้ามาขอคำปรึกษาการเริ่มดำเนินธุรกิจ และเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน รวมทั้งมีการใช้พื้นที่เพื่อการจัดกิจกรรมทั้งอีเวนต์ออนไลน์ การสัมมนา การอบรมให้ความรู้ด้านดิจิทัลซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้แล้วมากกว่า 1 ล้านคน
: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,634 หน้า 16 วันที่ 10 - 12 ธันวาคม 2563