สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ที่ผ่านมานั้น เรียกได้ว่าเป็น Double Disruption ที่ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
จะเห็นว่าคนไทยคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะนอกจากจะเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันแล้ว นวัตกรรมด้านสุขภาพก็ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่คนไทยตื่นตัวและยอมรับความปกติในรูปแบบใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพทางไกล (Tele Health) รวมไปถึงการใช้หุ่นยนต์ในการดูแลสุขอนามัยหรือทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และลดการสัมผัส ที่หลายหน่วยงานต่างจับมือร่วมกันพัฒนาให้สามารถนำมาใช้ได้ในช่วงวิกฤติิโควิด-19
ทั้งนี้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโอเปอเรเตอร์ก็ได้จับมือกันพัฒนาหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ที่ช่วยให้แพทย์สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องสัมผัสหรืออยู่ใกล้ โดยการรักษาทางไกลด้วยระบบ Telemedicine ผ่านโครงข่าย 5G สำหรับดูแลผู้ติดเชื้อ ช่วยลดความ เสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ทาง การแพทย์ก็มีออกมาให้เห็นกันอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น “น้องปิ่นโต” หุ่นยนต์ผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์แก่คนไข้ ผ่านการควบคุมทางไกลบนเครือข่ายสื่อสารไร้สาย เฝ้าระวังดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด สามารถสื่อสารได้ในระยะไกลผ่านหน้าจอที่ติดอยู่ ลดการใช้เวชภัณฑ์หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์แบบสิ้นเปลือง
ขณะเดียวกันก็ยังมีการพัฒนาหุ่นยนต์ Hapybot ที่มีความสามารถในการเคลื่อนที่อิสระด้วยตัวเองในการขนส่งยา วัคซีนและเวชภัณฑ์การแพทย์ มีหน้าจอสําหรับพยาบาลเพื่อสื่อสารกับผู้ป่วย สั่งการผ่านหน้าจอสัมผัสบนตัวหุ่นยนต์ สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางและสร้างแผนการเดินทางได้อัตโนมัติด้วย AI ทํางานต่อเนื่อง 3 ชม. และกลับแท่นชาร์จอัตโนมัติเมื่อทํางานเสร็จ หุ่นยนต์ True 5G Temi Connect & CareBot :หุ่นยนต์สื่อสารอัจฉริยะลดการสัมผัส ช่วยส่งเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เอกสาร บังคับได้จากระยะไกล นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีอุปกรณ์รถพยาบาลฉุกเฉินอัจฉริยะที่ช่วยติดตาม และสื่อสารระหว่างแพทย์ที่โรงพยาบาลกับภายในรถฉุกเฉินเพื่อจัดเตรียมการรักษาได้ทันท่วงที, AR Professional Consult Powered ระบบการเชื่อมต่ออัจฉริยะ สำหรับใช้สื่อสารระหว่างแพทย์ฉุกเฉินและแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์เฉพาะทางจะเห็นภาพในมุมมองเดียวกันจากแว่นที่แพทย์ฉุกเฉินใส่ ทำให้สามารถให้ความเห็นได้อย่างแม่นยำ
อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่เรื่องของการแพทย์เท่านั้น ในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติินี้อย่างหนัก ก็ได้มีการพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว อาทิ ‘True5G Temi Thermal ScanBot’ หุ่นยนต์ที่ช่วยตรวจวัดอุณหภูมิ ให้บริการเจลแอลกอฮอล์ ‘True 5G PatrolBot’ หุ่นยนต์ตรวจความปลอดภัยอัจฉริยะ ช่วยคัดกรองผู้ไม่ใส่หน้ากากอนามัย และ ‘True 5G HygenicBot’ หุ่นยนต์อัจฉริยะที่จะเข้ามาช่วยดูแลความสะอาดในพื้นที่ สร้างมาตรการดูแลความปลอดภัยด้านสุขอนามัยด้านการท่องเที่ยวแบบ New Normal นอกจากนี้เอไอเอสก็ได้เปิดตัว MAX หุ่นยนต์ AI มาให้บริการที่ Serenade Ambassador เพื่อต้อนรับลูกค้าโดย MAX ใช้เทคโนโลยี Natural Human-Robot Interaction เพื่อให้มีความเป็นธรรมชาติในการโต้ตอบพูดคุยการแสดงความรู้สึกผ่านสีหน้าและสามารถแนะนำโปรโมชันต่างๆ ให้กับลูกค้าได้อีกด้วย
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,640 หน้า 16 วันที่ 31 ธันวาคม 2563 - 2 มกราคม 2564