นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการ กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน “เทคโนโลยีวีอาร์” (VR : Virtual Reality) นับเป็นเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีบทบาทสำคัญ ในการสร้างประสบการณ์เสมือนจริงแบบ 360 องศา แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้หลากมิติ ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจสุขภาพ-ออกกำลังกาย และธุรกิจเพื่อความบันเทิง เพื่อสร้างประสบการณ์และเพิ่มอรรถรสแก่ผู้ใช้บริการ แต่ทั้งนี้ กลับพบว่าเทคโนโลยีดังกล่าว เป็นการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศในมูลค่าสูงทั้งสิ้น ด้วยข้อจำกัดของผู้เชี่ยวชาญด้านวีอาร์ในไทย ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด กทปส. จึงจัดสรรงบประมาณกว่า 12.95 ล้านบาท แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้วีอาร์’ (VR Startup Center) ภายใต้การดำเนินโครงการ “นำร่องพัฒนาศูนย์เรียนรู้และหลักสูตรสร้างเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน” ศูนย์การเรียนรู้และการเรียนการสอนวีอาร์ หนุนผลิตผู้เชี่ยวชาญพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพด้านวีอาร์ ตลอดจนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กทปส.ชูงบ 1.1 พันล้านจัดเต็มงานวิจัย 5G
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวต่อว่า “ศูนย์เรียนรู้วีอาร์” จะเป็นห้องเรียนเสมือนจริง ที่เปลี่ยนภาพจำการเรียนรู้ในรูปแบบเดิม เป็นการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัดและไม่สามารถคาดเดาได้ ที่มีฟังก์ชันในการเรียนรู้เทคโนโลยีวีอาร์ครบถ้วน โดยภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วย ชุดคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์และโปรแกรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการพัฒนาสื่อด้านเทคโนโลยีวีอาร์ และจอ LED แสดงภาพจากอุปกรณ์ Headset VR ในการเรียนรู้สำหรับผู้เรียน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในลักษณะ 'แอคทีฟ เลิร์นนิ่ง’ (Active Learning)
ทั้งนี้ ที่ศูนย์ฯดังกล่าว พร้อมเปิดให้เข้าใช้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนักศึกษา ตลอดจนเยาวชนในพื้นที่ที่สนใจ สามารถเข้าใช้บริการได้ทุกวันในเวลาราชการ หรือเข้ารับการอบรมได้ในหลักสูตรระยะสั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเข้ามาเรียนรู้และทดลองใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ มจพ. ยังเตรียมเปิดตัว 'หลักสูตรวีอาร์' หลักสูตรระดับปริญญาตรีที่เน้นพัฒนาคนรุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยีวีอาร์ต่อยอดธุรกิจ หรือก้าวสู่เส้นทางอาชีพในสายงานดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้ให้ตนเองในอนาคต ผ่านการอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านวีอาร์มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์/และองค์ความรู้ เพื่อปูพื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีวีอาร์เป็นการนำเสนอกระบวนการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีวีอาร์ ในการสร้างโมเดล 3 มิติ การนำโมเดล 3 มิติ เข้าสู่ระบบวีอาร์ การใส่โปรแกรมเงื่อนไขการโต้ตอบให้วัตถุ การจัดแสงเงา และการใช้คลัง Unity Asset Store ขั้นตอนการติดตั้งใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีเสมือนจริง และตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงในการทำงานตามสาขาวิชา ตลอดจนมีกิจกรรมศึกษาดูงานเพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ในการนำไปใช้งานจริงหรือพัฒนาสื่อวีอาร์ในอนาคต อย่างไรก็ดีหลักสูตรดังกล่าวอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมโครงสร้างหลักสูตร ให้ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานของการจัดทำหลักสูตรระดับอุดมศึกษาต่อไป รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย กล่าวทิ้งท้าย