นายสุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่าระบบคลาวด์ในส่วนถัดไปที่ธุรกิจจะมองหา จะต้องรองรับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ช่วยให้องค์กรตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ต้องสร้างครั้งเดียวและปรับใช้ได้บนทุกแพลตฟอร์ม การลงทุนในระบบคลาวด์จะเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญที่เราจะได้เห็น และเหล่านี้คือความสามารถหลัก 6 ด้านที่องค์กรจะมองหาจากระบบคลาวด์ในปี 2564
1. ระบบคลาวด์เฉพาะสำหรับอุตสาหกรรม
วันนี้ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลอันเข้มงวด กำลังเผชิญกับข้อกำหนดพิเศษด้านความปลอดภัย การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ จากรายงานการประมาณการฉบับหนึ่ง พบว่าค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลกิจการ การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับคิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดของธนาคารส่วนใหญ่ อีกทั้งยังเป็นกระบวนการที่ยากลำบากและใช้คนจำนวนมากสำหรับองค์กรหลายแห่ง
ในปี 2564 องค์กรจะมองหาความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการคลาวด์เพื่อให้แน่ใจถึงมาตรฐานและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการที่เจาะจงของอุตสาหกรรมของตน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน โทรคมนาคม การดูแลสุขภาพ และภาครัฐ ซึ่งมีการควบคุมด้านกฎระเบียบที่เข้มงวด องค์กรจะมองหาบริการบนระบบคลาวด์อย่างการเข้ารหัสคีย์ที่ใช้ในการเข้ารหัส (Keep Your Own Key: KYOK) เพื่อให้มีเฉพาะองค์กรนั้นๆ ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญของตนได้ รวมถึงโมดูลความปลอดภัยของฮาร์ดแวร์ที่ช่วยปกป้องอีกชั้นหนึ่ง และมาตรฐานความปลอดภัย FIPS 140-2 ระดับ 4 ของคลาวด์ ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงสุดในอุตสาหกรรม
2. มาตรฐานร่วมของการทำคอนเทนเนอร์
เมื่อองค์กรเริ่มย้ายโครงการต่างๆ สู่คลาวด์มากขึ้น การสร้างมาตรฐานร่วมแบบเดียวกับทีมไอทีของลูกค้าจะเป็นสิ่งจำเป็น การตัดสินใจเกี่ยวกับแพลตฟอร์มคอนเทนเนอร์ที่ใช้จะกลายเป็นประเด็นสำคัญ โดยมีเรื่องของความยืดหยุ่น ความปลอดภัย ระบบที่โอเพน และความคล่องตัว เป็นเกณฑ์หลักในการตัดสินใจนี้ โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่ต้องมีการทำ app modernization จำนวนมาก (ในกลุ่มธนาคารหรือบริษัทโทรคมนาคม) ไม่ว่าแอพพลิเคชันเหล่านี้จะเป็นแบบสร้างขึ้นเองหรือสำเร็จรูป การสร้างมาตรฐานบนแพลตฟอร์มคอนเทนเนอร์จะช่วยขจัดฝันร้ายด้านการจัดการที่องค์กรจำนวนมากต้องเจอในวันนี้
3. การประมวลผลแบบ Edge และ Satellite
แบนด์วิดธ์ที่สูงขึ้นและเวลาแฝงที่ต่ำลงของ 5G จะเร่งให้เกิดการนำการประมวลผลแบบ edge มาใช้ การผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยี 5G และ edge computing จะนำสู่การใช้งานและนวัตกรรมใหม่ๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ในอุตสาหกรรมพลังงานที่ใช้โดรนตรวจสอบ ส่งภาพ วิดีโอ และข้อมูลเซ็นเซอร์ไปยังเอไอในระบบคลาวด์เพื่อตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่อยู่ห่างไกลหรือเข้าถึงได้ยากอย่างเสาไฟฟ้า หม้อแปลง และท่อส่งก๊าซ เป็นต้น อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้กล้องจับภาพในขณะที่สินค้าถูกลำเลียงไปตามสายการผลิตและใช้เอไอวิเคราะห์ภาพเพื่อตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมขนส่งที่สามารถติดตามและตรวจสอบการขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถควบคุมและคาดการณ์ระบบโลจิสติกส์ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น หรือในอุตสาหกรรมการเกษตรที่สามารถสำรวจพืชผลในไร่โดยไม่ต้องมีคนควบคุม โดยใช้การวิเคราะห์ด้วยภาพเพื่อประเมินอัตราการเติบโตของพืชหรือการสูญเสียผลผลิตเนื่องจากศัตรูพืช ช่วยให้เกษตรกรปรับระยะเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างเหมาะสม – เหล่านี้คือศักยภาพที่ระบบคลาวด์ต้องสามารถรองรับได้
4. คลาวด์ที่รองรับระบบออโตเมชันจะกลายเป็นกระแสหลัก
ระบบคลาวด์จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการนำระบบออโตเมชันที่ผสานเอไอ มาใช้ในกระบวนการทางธุรกิจและการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ระบบบริการลูกค้าแบบ contactless และดิจิทัล จะจำเป็นต้องใช้ออโตเมชันที่ผสมผสานเอไอเพื่อนำสู่บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล ธุรกิจค้าปลีก ธนาคาร โทรคมนาคม และภาครัฐ จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการใช้งานออโตเมชันอัจฉริยะมากขึ้น
5. คลาวด์ที่เสริมกำแพงการรักษาความปลอดภัย
การใช้ประโยชน์จากโซลูชันซิเคียวริตี้บนคลาวด์ในการสร้างส่วนควบคุมทั่วไป สำหรับจัดการกับภัยคุกคามทั่วทั้งองค์กรจะกลายเป็นจริงขึ้นมา โดยมีสถานการณ์ Work from Home และช่องทางการโจมตีที่หลากหลายขึ้นเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดความต้องการนี้มากขึ้น แนวคิดนี้จะจำเป็นสำหรับทุกอุตสาหกรรมเพราะเรื่องซิเคียวริตี้เป็นเรื่องสำคัญของทุกองค์กร โดยจะเป็นการใช้ประโยชน์จากระบบคลาวด์เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านความปลอดภัยและภัยคุกคามทั้งหมดจากภายในองค์กร ใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่มีอยู่บนคลาวด์เพื่อจัดการภัยคุกคามให้สำเร็จ และแบ่งปันข้อมูลอินเทลลิเจนซ์ด้านซิเคียวริตี้ให้แก่องค์กรอื่นๆ ในคอมมิวนิตี้
6. การใช้เอไอกับระบบปฏิบัติงานหลัก
นอกเหนือจาก use case ที่เน้นเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง การป้องกันการฉ้อโกง การเพิ่มความปลอดภัย การสร้างความมีส่วนร่วมของลูกค้าแล้ว เราจะเห็นการนำเอไอมาใช้ในการปฏิบัติงานหลักด้านไอทีเพื่อช่วยคาดการณ์การหยุดทำงานของระบบ และช่วยให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างทันท่วงที อย่างการใช้ระบบเสมือนจริง (Virtual Reality) และโลกเสมือน (Augmented Reality) เพื่อให้ช่างภาคสนามสามารถปรึกษาระบบเอไอหรือรับคำแนะนำโดยตรงผ่านภาพจากผู้เชี่ยวชาญที่อยู่อีกที่หนึ่ง
ธุรกิจค้าปลีกที่กำลังพยายามปรับประสบการณ์การช็อปปิงในโชว์รูมสู่รูปแบบดิจิทัล และภาครัฐที่พยายามปรับเปลี่ยนการให้บริการประชาชนให้เป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น จะเป็นภาคส่วนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเร่งนำเอไอมาใช้ในการปฏิบัติงานด้านไอทีนี้
การศึกษาพบว่าแพลตฟอร์มคลาวด์แบบไฮบริดสามารถสร้างคุณค่าให้แก่องค์กรมากกว่า 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับรูปแบบเดิมที่เป็นระบบคลาวด์สาธารณะ และไฮบริดคลาวด์จะเป็นระบบที่ตอบโจทย์เทรนด์และรูปแบบความต้องการคลาวด์ปี 2564 อย่างแท้จริง