รายงานเกี่ยวกับ “อนาคตของการทำงานจากที่บ้านอย่างปลอดภัย (Future of Secure Remote Work Report)” ของซิสโก้ เปิดเผยว่า องค์กรจำนวนมากในเอเชีย-แปซิฟิกไม่มีความพร้อมในการรองรับการทำงานจากที่บ้านของพนักงานภายในเวลาอันรวดเร็วเมื่อเกิดการแพร่ระบาด โดยองค์กร 54% อยู่ในสถานะที่มีความพร้อมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ 7% ไม่มีความพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เนื่องจากผู้ใช้เชื่อมต่อจากภายนอกไฟร์วอลล์ขององค์กร ดังนั้นการเข้าถึงอย่างปลอดภัย (Secure Access) ซึ่งหมายถึงความสามารถในการตรวจสอบผู้ใช้ และการทำให้ผู้ใช้ไว้วางใจไม่ว่าผู้ใช้จะล็อกอินที่ไหน อย่างไร หรือเมื่อใดก็ตาม ถือเป็นความท้าทายด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กรส่วนใหญ่ในเอเชีย-แปซิฟิก 63% เมื่อต้องรองรับพนักงานที่ทำงานจากที่บ้าน นอกจากนั้นองค์กรเหล่านี้ยังระบุถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล 59% และการรักษาอำนาจในการควบคุม และการบังคับใช้นโยบาย 53%
นายเคอร์รี่ ซิงเกิลตัน กรรมการผู้จัดการฝ่ายไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของซิสโก้ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีน กล่าวว่า “ปัญหาท้าทายที่สำคัญในเวลานี้ได้เปลี่ยนไปสู่เรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้ กล่าวคือ เมื่อองค์กรต่างๆ มุ่งเน้นการใช้งานระบบคลาวด์และการทำงานนอกสถานที่เพิ่มมากขึ้น พนักงานก็คาดหวังว่าจะสามารถทำงานได้จากทุกที่ บนทุกอุปกรณ์ ดังนั้นระบบรักษาความปลอดภัยจึงเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล โดยจะต้องสามารถตรวจสอบผู้ใช้ อุปกรณ์ แอพพลิเคชั่น ข้อมูลที่ผู้ใช้เข้าถึง และมีระบบรักษาความปลอดภัยแบบรอบด้านที่ยืดหยุ่น เพื่อคุ้มครองผู้ใช้และองค์กรธุรกิจ โดยครอบคลุมตั้งแต่เครือข่าย ไปจนถึงอุปกรณ์ปลายทาง และระบบคลาวด์
ทั้งนี้สำหรับประเทศไทย สัดส่วนขององค์กรที่คาดว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานจะทำงานจากที่บ้านอยู่ที่ 42% หลังการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นตัวเร่งดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในทุกอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามพนักงานยังขาดความรู้ และการรับรู้ที่เพียงพอ โดย 71% ขององค์กรไทยเผยว่าเป็นความท้าทายที่องค์กรต้องเผชิญในการสร้างโปรโตคอลด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้สำหรับการทำงานจากที่บ้าน และ 61% ขององค์กรระบุว่าการแพร่ระบาดจะทำให้การลงทุนด้านความไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในอนาคตเพิ่มมากขึ้น และไซเบอร์ซีเคียวริตี้ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ รายงานนี้ชี้ให้เห็นว่าองค์กรต่างๆต้องทบทวนกลยุทธ์ และข้อเสนอใหม่เพื่อรองรับความปลอดภัยสำหรับอนาคตการทำงาน
ด้านนายทวีวัฒน์ จันทรเสโน, รักษาการกรรมการผู้จัดการซิสโก้ ประเทศไทย และอินโดจีน กล่าวว่า เมื่อผู้ใช้มีการเชื่อมต่อจากระยะไกล ความท้าทายด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่องค์กรไทยส่วนใหญ่ต้องเผชิญคือการเข้าถึงอย่างปลอดภัย 78%รวมถึงการยืนยันตัวตน 65% และการรักษานโยบายการควบคุมและการบังคับใช้ 63%การป้องกันปลายทางเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับองค์กร โดย 69% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าอุปกรณ์ส่วนบุคคลเป็นความท้าทายที่สุดในการทำงานระยะไกล ตามด้วยแอปพลิเคชันคลาวด์ที่ 63% ขณะที่แล็ปท็อป/ เดสก์ท็อปสำนักงานอยู่ที่ 58% และข้อมูลลูกค้า 51%
ขณะที่องค์กรธุรกิจเตรียมพร้อมสำหรับสถานที่ทำงานแบบไฮบริดนี้ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ได้กลายเป็นภารกิจสำคัญสำหรับองค์กร โดย 85% ขององค์กรในเอเชีย-แปซิฟิกระบุว่าไซเบอร์ซีเคียวริตี้มีความสำคัญอย่างมาก หรือมากกว่าที่เคยเป็นมาก่อนการแพร่ระบาด และที่ดีไปกว่านั้นก็คือ องค์กรต่างๆ เตรียมที่จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยผลการสำรวจชี้ว่า 70% ขององค์กรในภูมิภาคนี้มีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในอนาคต สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับสัดส่วน 68% ในทวีปอเมริกาและ 52% ในทวีปยุโรป
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาบางประการที่จำเป็นจะต้องแก้ไข กล่าวคือ ขณะที่องค์กรเกือบทั้งหมด 97% ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายไซเบอร์ซีเคียวริตี้เพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร โดยผลการสำรวจชี้ว่า 61% ขององค์กรในเอเชีย-แปซิฟิกระบุว่า การที่พนักงานขาดความรู้ความเข้าใจถือเป็นปัญหาและความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการบังคับใช้ข้อกำหนดด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้สำหรับการทำงานจากที่บ้าน รองลงมาคือ มีเครื่องมือ/โซลูชั่นที่จะต้องจัดการมากเกินไป 53%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แนะองค์กรใช้ AI ป้องภัยไซเบอร์ยุค 5G
“TPS” ผุด Cisco Cyber Vision ลดภัยคุกคามไซเบอร์