คาด 10 ปี 30%GDP มาจากเศรษฐกิจดิจิทัล

11 ก.พ. 2564 | 03:25 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2564 | 03:28 น.

หัวเว่ย คาดการณ์เศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลก ปี 2025 มูลค่ากว่า 23 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่อีก 10 ปี 30% ของ GDP ประเทศ ไทยจะมาจากดิจิทัล ชี้ โควิด-19 ตัวเร่ง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน พร้อมผลักดัน 5G เอไอ คลาวด์ สู่ เทคโนโลยีแพลตฟอร์มแห่งอนาคต

นายวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ หัวหน้า เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์ วิกฤติโควิด-19 ทำให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานทั้งบุคลากรและองค์กรต่างๆ รวมถึงมีการปรับโครงสร้างการทำงานทำให้เกิดการผลักดันเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่มีความชัดเจนมากขึ้น เรียกว่าเป็น เทคโนโลยีแพลตฟอร์มสำหรับอนาคต ที่เร่งให้เกิด ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน และการเติบโตของ เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) ทั้งนี้ประมาณการณ์ว่าในปี 2025 เศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลกจะมีมูลค่า ถึง 23 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในอีก 10 ปี 30% ของ GDP ประเทศไทย จะมาจากเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่สำคัญอย่าง 5G บรอดแบนด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ รวมถึงคลาวด์ และเอไอ ทั้งหมดนี้จะส่งเสริมและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในแขนงต่างๆ

ทั้งนี้เสาหลักของ ICT เทคโนโลยีนั้นหลักๆ คือ 5G และคลาวด์ที่จะเข้ามาส่งเสริมซึ่งกันและกันนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้มีความชาญฉลาดในระดับใกล้ผู้ใช้มากขึ้น มีดีเลย์ และความหน่วง (Latency) ที่น้อยลง นอกจากนี้เมื่อมีอุปกรณ์ IoT หรือเซ็นเซอร์เพิ่มมากขึ้น จะทำให้เกิดข้อมูลจำนวนมหาศาลที่สามารถนำมาประมวลผลได้มากขึ้น ยกระดับการใช้งาน เอไอ และ Machine Learning ในภาคอุตสาหกรรม

 

สำหรับภาพรวมของเทคโนโลยีแพลต ฟอร์มในอนาคตนั้นประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ คือ

1. Infrastructure การมีโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ที่มีความพร้อม

2. Big Data การมีโครงข่ายแพลตฟอร์มการใช้ บิ๊กดาต้าในการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น สามารถเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมากให้เหลือเพียงข้อมูลที่มีคุณภาพ สามารถที่จะนำเอาเข้าไปในการประยุกต์ใช้กับแอพพลิเคชันต่างๆ เกิดเป็นบริการดิจิทัลใหม่ๆ อย่างเช่น รัฐบาลดิจิทัล (e-Government), ดิจิทัล ไฟแนนซ์, สมาร์ทซิตี้ หรือ อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry)

 

คาด 10 ปี 30%GDP  มาจากเศรษฐกิจดิจิทัล

 

3. Application Ecosystem หรือการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาไปสู่นวัตกรรม หัวเว่ย ได้ผลักดันการเปิดศูนย์ 5G EIC (5G Ecosystem Innovation Center) โดยมีความตั้งใจ 4 เรื่อง ได้แก่ 1. Partner Introducing การดึงศักยภาพ ความชำนาญของหลายภาคส่วนเพื่อทำงานร่วมกัน และเสริมด้วยเทคโนโลยีให้กลายเป็นนวัตกรรมที่ยกระดับขึ้น 2. Integretion and Verification ทดสอบอุปกรณ์หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ รวมถึงการพัฒนา 5G และศักยภาพการใช้งาน 3. 5G Training เป็นศูนย์ฝึกอบรม อัพสกิล รีสกิล ให้กับเยาวชนและก็ผู้ใช้งานต่างๆ ที่ต้องการทำ Digital transformation 4. Branding Promotion การทดลองทดสอบ Use Case และสนับสนุน Use Case ที่ประสบความสำเร็จ

 

อย่างไรก็ตามหากต้องการที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น ศูนย์กลางดิจิทัล อาเซียน (ASEAN Digital Hub) ของภูมิภาค จำเป็นที่จะต้องประกอบไปด้วยศักยภาพและเป็นความเป็นเลิศใน 4 ด้าน คือ 1. Connectivity Hub ความเป็นเลิศในด้านการเชื่อมต่อ ทั้ง 5G และไฟเบอร์บรอดแบนด์ ที่มีอัตราการเข้าถึงที่สูงมาก 2. ระบบคลาวด์ ที่มีแพลตฟอร์มที่จะรองรับและผลักดันให้องค์กรต่างๆ ในประเทศไทยเกิดดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3. พาร์ทเนอร์ โซลูชัน โพรไวเดอร์ และนวัตกรรมต่างๆ ในการใช้งานของเทคโนโลยีให้กลายเป็นโซลูชันที่เหมาะกับอุตสาหกรรมต่างๆ 4. บุคลากร และ Talent ของคนไทยกว่า 60 ล้านคนให้มีศักยภาพในการเข้าถึงดิจิทัล 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,652 หน้า 16 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ 2564