โควิดสร้างดีมานด์ตลาดเครื่องพิมพ์ “บราเดอร์” มุ่งนำผลิตภัณฑ์ เป็นเครื่องสร้าง “อาชีพ-รายได้” ตั้งเป้าปี 64 เติบโตต่อเนื่อง 8%
นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดของโควิด ที่ผ่านมาทำให้พฤติกรรม หรือความต้องการเครื่องพิมพ์หรือพรินเตอร์ในตลาดเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการนำเครื่องพิมพ์ หรือพรินเตอร์ไปใช้เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพที่ 2 ทั้งงานด้านงานฝีมือ ที่ทำตามออร์เดอร์ลูกค้า หรือ ขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ที่ต้องใช้เครื่องพิมพ์ๆ ฉลาก หรือ บาร์โค้ด นอกจากนี้ยังมีการใช้การเรียนออนไลน์ยังทำให้ความต้องการเครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์ในตลาดสูงขึ้นด้วย
ขณะที่เทรนด์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าองค์กรก็เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการจัดซื้อเครื่องพิมพ์ให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือจัดซื้อเครื่องพิมพ์ขนาดกลางและเล็ก กระจายให้พนักงานใช้ตามแผนกต่างๆ จากเดิมมีการใช้เครื่องใหญ่แบบรวมศูนย์ นอกจากนี้แนวโน้มความต้องการเช่าใช้ หรือ ใช้งานแบบจ่ายรายเดือน หรือ Subscription Model ยังมีการเติบโตมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามปัญหาผู้ผลิตพรินเตอร์ทุกรายประสบขณะนี้คือ สินค้าขาดตลาด เนื่องจากโควิดทำให้โรงงานผลิตมีความสามารถการผลิตลดลง ขณะที่วิกฤติโควิดสร้างดีมานด์ตลาดใหม่ๆ
ทั้งนี้บราเดอร์ คาดว่าปี 2564 ตลาดเครื่องพิมพ์ยังคงมียอดขายรวมใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ในปี 2564 คาดว่าภาพรวมตลาดเครื่องพิมพ์จะเติบโตในทุกตลาด 5-10% ส่วนบราเดอร์ตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้ 8% อีกหนึ่งสินค้าที่ได้รับอานิสงส์คือ จักรเย็บผ้า ที่มียอดขายสูงขึ้นถึง 20% ในปีงบประมาณ 2563 และอัตราการเติบโตก็ปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่องเพิ่มจากการทำหน้ากากผ้ามาเป็นงาน DIY เพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพหลักหรือทำเป็นอาชีพเสริม โดยบราเดอร์จะเน้นเป็นการขายสินค้าในเชิงการลงทุนเพื่อให้เกิดรายได้ ให้ลูกค้าทราบถึงวิธีการทำธุรกิจโดยใช้สินค้าของบราเดอร์ และชี้ช่องทางให้สามารถทำธุรกิจด้วยตนเองเพื่อช่วยลดปัญหาการว่างงานที่เกิดจากวิกฤติโควิด โดยในปี 2564 บราเดอร์จะเน้นสร้างการเติบโตทั้งส่วนใช้งานส่วนบุคคลที่ใช้กลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบราเดอร์เพื่อเป็นงานอดิเรกหรือใช้เพื่อทำธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็ก และกลุ่มผู้ใชข้ธุรกิจที่นำไปใช้ทำธุรกิจเต็มรูปแบบ
“วันนี้บราเดอร์ไม่ได้ขายแค่สินค้าเพียงอย่างเดียว แต่เราเปลี่ยนวิธีคิดในการทำธุรกิจโดยหันมานำเสนออาชีพใหม่ที่สามารถสร้างรายได้และเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่อาชีพเดิมของลูกค้าในปัจจุบันด้วยเช่นกัน สิ่งนี้ทำให้เรายังเติบโตได้แม้ต้องเจอกับวิกฤติระดับโลก”
นายธีรวุธกล่าวต่อไปอีกว่า ปีที่ผ่านมาแม้จะต้องเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ COVID-19 แต่ บราเดอร์ ก็ยังคงสร้างรายได้ให้เติบโตจากปี 2563 ด้วยการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในเวลาอันรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง นอกจากการใช้กลยุทธ์ 3C ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับ Customer, Channel และ Company แล้วบราเดอร์ยังได้ปรับรูปแบบการทำงานที่เน้นเรื่อง Speed และ Resilience เข้ามาเสริมด้วย เพื่อพร้อมทำงานได้อย่างฉับไว สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น เพราะภาพรวมตลาดในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำงานจึงต้องเปลี่ยนรูปแบบสู่ customize style มากยิ่งขึ้น”
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,660 หน้า 16 วันที่ 11 - 13 มีนาคม 2564