‘ชัยวุฒิ’เร่งดัน “5G-NDID” สู่รัฐบาลดิจิทัล

07 เม.ย. 2564 | 21:00 น.

  ‘ชัยวุฒิ’ ร่วมปาฐกถาในพิธีเปิดอบรมหลักสูตร Digital Transformation for CEO รุ่นที่ 3 ยํ้าพร้อมขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยี 5G-NDID เร่งเครื่องทรานส์ฟอร์มสู่รัฐบาลดิจิทัล

 

 

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวปาฐกถาภายใต้หัวข้อ“ ทรานฟอร์มมิ่ง ไทยแลนด์ ฟอร์ เดอะ ฟิวเจอร์”ในพิธีเปิดว่าเปิดอบรมหลักสูตรโครงการ Digital Transformation for CEO รุ่นที่ 3 (DTC#3) จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และกรุงเทพธุรกิจ ว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561 -2580) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงฯ มีหน้าที่ในการสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนากำลังคน ด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้สถานการณ์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ Digitization – การเปลี่ยนผ่านข้อมูลสู่รูปแบบดิจิทัล Digitalization – การเริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานบางกระบวนการสู่รูปแบบดิจิทัล Digital Transformation – การเปลี่ยนผ่านในทุกกระบวนการสู่รูปแบบดิจิทัล เกิดการหลอมรวมทั้งด้านข้อมูลและกระบวนการทำงานให้อยู่ในรูปแบบของดิจิทัล เพื่อพร้อมต่อการใช้ประโยชน์ เพราะโลกปัจจุบัน คือ ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

ขณะที่สถานการณ์โลกในปัจจุบัน มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรโลกใช้งานอินเตอร์เน็ตพบว่า ปี 2564 ประชากรโลกมีจำนวนประมาณ 7.83 พันล้านคน โดยมีจำนวนประชากรที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต ประมาณ 4.66 พันล้านคน หรือ 59.5% ของประชากรโลก ซึ่งมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่า ปี2563 คิดเป็น 7.3% และมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรโลกซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ โดยพบว่า ปี 2564 ประชากรโลกซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ คิดเป็น 76.8% ของประชากรโลก และมีการค้นหาสินค้าและบริการออนไลน์มากถึง 81.5% ของประชากรโลก ช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ราคา ICT ลดลงทั่วโลก ขณะเดียวกัน การเข้าถึงและการใช้บริการ ICT ก็มีจำนวนมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์พัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย มีตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ประชาชนไทย ประมาณ 69.88 ล้านคน มีการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ ประมาณ 90.66 ล้านอุปกรณ์ คิดเป็น 129.7% นั้นหมายความว่ามีประชาชนมากกว่าครึ่งที่มีโทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 เครื่อง การใช้อินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ของคนไทยจะอยู่ที่ 8 ชั่วโมง 44 นาที ต่อวัน มูลค่าสินค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซของไทย ประมาณ 7.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 2.17 แสนล้านบาท (อัตรา30 บาทต่อ 1ดอลลาร์สหรัฐ)

อย่างไรก็ตามประเทศไทยในอนาคต ความต้องการใช้งาน 5G ของผู้บริโภคจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยคาดว่าในปี 2570 คนไทยจะใช้งาน 5G ไม่ต่ำกว่า 70 ล้านราย (หรือประมาณ 73%) ส่งผลให้ในอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ 5G อยู่ที่ 2.3 – 5 ล้านล้านบาท รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจะลดลงอย่างน้อย 38,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เร่งดำเนินการผลักดันการดำเนินงานที่สำคัญ การนำร่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ทั้งหมด 6 Sectors ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านสาธารณสุข ด้านอุตสาหกรรม ด้านการศึกษา ด้านคมนาคม และด้าน Smart City รวมทั้งสิ้น 9 โครงการ ที่กระจายครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยการดำเนินการในระยะถัดไป กำลังผลักดันให้เกิด 5G City ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกพื้นที่

ขณะที่การดำเนินงานพัฒนากฎหมายด้านดิจิทัล ได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีการดำเนินการที่รองรับการกำกับดูแลธุรกิจบริการสำคัญให้มีมาตรฐานและเป็นบริการที่น่าเชื่อถือ โดยจัดทำเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ National Digital Identity (NDID) หรือระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งได้วาง
เป้าหมายผลักดันให้เกิดขึ้นภายใน 1 ปี โดยมีการเก็บข้อมูลที่ระบุอัตลักษณ์ (Identity) สร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ สร้างมาตรฐานการพิสูจน์และการยืนยันตัวตนร่วมกันทั้งประเทศไทย โดยกระทรวงดีอีได้ร่วมกระทรวงมหาดไทยในการเตรียมความพร้อมการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล ซึ่งประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือ ช่วยลดระยะเวลาในการกรอกเอกสารและข้อมูลระบุตัวตนของลูกค้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564