ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนายการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เปิดเผยว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบมากขึ้นในแต่ละปี กิจกรรมออนไลน์ต่างๆ รวมถึงการทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง โดยพฤติกรรมของคนไทยคุ้นชินกับเทคโนโลยี และอินเตอร์เน็ต ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19ผลักดันการใช้เครื่องมือดิจิทัล และอินเตอร์เน็ตในไทย ทั้งการสื่อสาร การทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน อันเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันการติดเชื้อตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม การสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประเทศไทย ปี 2563 จึงมีความน่าสนใจ และสะท้อนให้เห็นพฤติกรรม การเปลี่ยนแปลง และแนวโน้มในอนาคต
โดยจากการสำรวจล่าสุดพบว่าปี 2563 คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น เฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ราว 1 ชั่วโมง 3 นาที และหากเปรียบเทียบกับปี 2560 มีจำนวนการใช้งานอินเตอร์เน็ตวันละ 6 ชั่วโมง 35 นาทีเท่านั้น โดยในวันเรียน/ทำงาน พบว่า มีการใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยอยู่ที่ 11 ชั่วโมง 23 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1 ชั่วโมง 31 นาทีเมื่อจำแนกตามเจเนอเรชัน พบว่า กลุ่ม Gen Y (อายุ 20-39 ปี) มีการใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดอยู่ที่ 12 ชั่วโมง 26 นาที รองลงมาคือ Gen Z (อายุน้อยกว่า 20 ปี) จำนวน 12 ชั่วโมง 8 นาที , Gen X (อายุ 40-55 ปี) จำนวน 10 ชั่วโมง 20 นาที และ Gen Baby Boomer (อายุ 56-74 ปี) จำนวน 8 ชั่วโมง 41 นาที
ภาพรวมจำนวนชั่วโมงการใช้อินเตอร์เน็ตในวันเรียน/ทำงาน เพิ่มมากขึ้น และกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ที่อยู่ในวัยเรียน/วัยทำงานเป็นกลุ่มที่ใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันมากที่สุดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีมาตรการปิดสถานศึกษาให้ทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และที่ทำงานส่วนใหญ่มีนโยบายการทำงานแบบ Work from Home ทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการทำงานมาเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น
กิจกรรมออนไลน์ยอดนิยม คือ ใช้ Social Media เช่น Facebook, LINE, Instagram คิดเป็น 95.3% รองลงมาคือ ดูโทรทัศน์/ดูคลิป/ดูหนัง/ฟังเพลงออนไลน์ คิดเป็น 85.0% , ค้นหาข้อมูล คิดเป็น 82.2% , ติดต่อสื่อสารออนไลน์ทั้งการโทรศัพท์ และพูดคุย (Chat) คิดเป็น 77.8% , รับ-ส่งอีเมล คิดเป็น 69.0% และ ซื้อสินค้าออนไลน์ คิดเป็น 67.3%
สื่อสังคมออนไลน์ที่ครองใจคนไทยอย่างต่อเนื่อง คือ Facebook คิดเป็น 98.29% รองลงมาคือ YouTube คิดเป็น 97.5% และ LINE คิดเป็น 96.0% ส่วนสื่อสังคมออนไลน์ที่มาแรงคือ TikTok ก็ยังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วโดยมีผู้ใช้บริการ คิดเป็น 35.8%
แพลตฟอร์มที่ใช้ซื้อสินค้าออนไลน์อันดับ 1 คือ ช้อปปี้ 91% รองลงมาคือ ลาซาด้า 72.9% Facebook Fanpage 55.1% Instagram 42.1% และ LINE 41.6% ส่วนแพลตฟอร์มนิยมดูทีวี และคลิป อันดับหนึ่ง คือ YouTube 99.1% Netflix 55.6% และ LINE TV 51.9% วิกฤติโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป และเป็นสิ่งที่แบรนด์จำเป็นต้องเรียนรู้และปรับแผนรับมือ
นางสาวสรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร (ไทยแลนด์) จำกัด ในเครือบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิดแต่ละระลอกทำให้เกิดปรากฎการณ์ใหม่และสร้างการแข่งขันในรูปแบบใหม่ๆอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งภายหลังจากมีวัคซีนโควิด เข้ามา พฤติกรรมของผู้บริโภคจะไม่กลับไปเหมือนครั้งก่อนมีโควิด 6 เทรนด์ สำคัญที่จะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเดิมๆอย่างสิ้นเชิง
ประกอบด้วย 1. ชอบพรีเซ็นต์ตัวเองมากกว่าพรีเซ็นเตอร์ 2. ชอบอยู่บ้านมากกว่านอกบ้าน จากความเสี่ยงนอกบ้าน ทำให้คนชอบอยู่บ้านมากขึ้นใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อน้อยลง และอาศัยงานอดิเรกคลายเครียดจากสภาวะ burnout 3. ใช้สติมากกว่าสตางค์ การจ้างงานเปลี่ยนทิศทางไปจ้างคนที่มี skill สูง 4.ชอบย้อมใจ ผู้บริโภคเกิดสภาวะเครียดจากผลกระทบของโควิด ส่งผลให้รูปแบบการอุปโภคบริโภคเปลี่ยนไปโดยหันมาเสพสินค้าที่ช่วยย้อมใจหรือทำให้สภาพจิตใจดีขึ้น ,5. ชอบกระจายไม่กระจุก สถาน การณ์โควิดผลักดันให้ประชากรกลับบ้านเกิดหรือมีแนวโน้มที่จะออก ไปอยู่ต่างจังหวัดมากขึ้นและ 6. ชอบอยู่บนโลกสองใบ
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,669 วันที่ 11 - 14 เมษายน พ.ศ. 2564