โควิด-19 เปลี่ยนวิถีคนไทยและ บุคลากรทางการแพทย์แบบก้าวกระโดด ดึงนักลงทุนหนุนตลาดเฮลท์แคร์บูม ด้านเฮลธ์เทค สตาร์ทอัพชี้ Deep Tech คือทางรอดธุรกิจ
นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ ซีอีโอและผู้ ร่วมก่อตั้ง ARINCARE (อรินแคร์) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้นักลงทุนสนใจตลาดเฮลธ์แคร์มากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีดีลใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่กี่ดีล เพราะเมื่อนักลงทุนเข้ามาจะมี 2 อุตสาหกรรมที่นักลงทุนให้ความสนใจคือ 1. Health Care บริการด้านเฮลธ์แคร์ ซึ่งสตาร์ทอัพที่ทำเกี่ยวกับเทเลเมด เทเลเฮลธ์จะได้รับความสนใจมากขึ้น และ 2. Deep Tech โดยสตาร์ทอัพด้านดีพเทคในอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ที่เกี่ยวกับเรื่องการคิดค้น การผลิตยาหรืออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์จะได้รับความสนใจมาก ขณะที่สาธารณสุขของไทยนั้นเข้าถึงคนไทยทุกคน แต่มีการพัฒนาหรือนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งเมื่อสถานการณ์ของโควิดเข้ามา ไม่เพียงแค่คนไทย แต่บุคลากรทางการแพทย์และหน่วยงานต่างๆ มีการใช้เทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดจากเดิมที่พยายามพัฒนามา 10-20 ปี ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในช่วงการระบาดของโควิด
จะเห็นว่าอุตสาหกรรม Health Care อาจจะไม่ได้หวือหวามาก เพราะนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดนี้อยู่แล้วจะรู้ว่าไม่ใช่เกมของคอนซูเมอร์ ขณะที่โซเชียลมีเดียเติบโตกว่า 100% เนื่องจากการเข้าถึงที่ง่าย แต่เฮลธ์แคร์นั้นจะติดในเรื่องของกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ เมื่อเกี่ยวกับเรื่องของยาและสุขภาพของคน จึงจำเป็นที่จะต้องโฟกัสเรื่องของคุณภาพมากกว่าสตาร์ทอัพในด้านอื่นๆ อย่างเช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ที่มีความเข้มงวดในอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์เพราะมีรายละเอียดเรื่องของอาการป่วยและข้อมูลที่เป็นความลับของผู้ป่วย เพราะฉะนั้นสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องนี้จึงยังไม่ได้เห็นการเติบโตอย่างหวือหวา แต่ธุรกิจที่หาโพสิชันนิ่งของตัวเองได้แล้ว จะค่อนข้างยั่งยืนในการเติบโตทำให้ได้เห็นดีลใหญ่ๆ ที่ควบรวมกันเกิดขึ้น
ทั้งนี้อรินแคร์ในช่วงโควิดเติบโตขึ้นประมาณ 12 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนจึงสามารถเติบโตได้ แต่ก็มีการปรับเรื่องของบริการเยอะพอสมควร เพราะช่วงสถาน การณ์โควิดช่องทางในการรับบริการด้านเฮลธ์แคร์นั้นมีความแตกต่างกันออกไป โดยอรินแคร์มีฟีเจอร์เทเลฟาร์มาซี ที่เปิดตัวหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมา ที่ช่วยให้คนไข้สามารถปรึกษาเภสัชกรผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างถูกกฎหมาย โดยอรินแคร์มีเป้าหมาย คือ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ปรับตัวเข้ากับวิถี new Normal ให้ได้
“สำหรับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดของทางภาครัฐนั้นค่อนข้างมีความอนุรักษ์นิยม (Conservative) ด้วยความที่ต้องระมัดระวังใน เรื่องของเฮลธ์แคร์ ซึ่งอาจจะไม่ได้รวดเร็วเหมือนต่างประเทศ ประกอบกับประเทศไทยบุคลากรและมาตรฐานทางสาธารณสุขค่อนข้างสูงและประชากรที่ค่อนข้างตื่นตัว ปัจจัยเหล่านี้อาจจะทำให้ภาครัฐขยับช้าอย่างระมัดระวัง ซึ่งบางทีอาจจะดูคอนเซอร์เวทีฟเกินไป”
ด้านนางสาววลัยพรรณ ฉันท์มิตรกุล ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง ZeekDoc เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรม Health Tech ไทยเทรนด์ที่ชัดที่สุดคือเรื่องของเทเลเมดิซีน ที่คนไทยจำนวนมากไม่ต้องการเข้าไปรับความเสี่ยงที่โรงพยาบาลก็จะหันมาใช้บริการของเทเลเมดิซีนเพิ่มขึ้น รวมถึงมีผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่เข้ามาทำแพลตฟอร์มเทเลเมดิซีนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายใหม่ก็เริ่มที่จะหันมาทำในเชิง Deep Tech เพื่อเข้ามาช่วยเหลือการวินิจฉัยโรคของแพทย์ เช่น การนำเอไอมาใช้เพื่อดูภาพหรือฟิล์มเอกซเรย์ปอดที่จะมีการนำมาใช้งานในโรงพยาบาล ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับคอนซูเมอร์ โดยตรง แต่จะช่วยงานบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลได้มากขึ้น ขณะที่ ZeekDoc นั้นก่อนหน้านี้คนในพื้นที่ต่างจังหวัดจะยังไม่มีความคล่องตัวในการใช้งาน แต่ในปีนี้มีผู้ใช้บริการในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้นที่สนใจและพร้อมที่จะเปลี่ยนมาใช้บริการ ZeekDoc อีกทั้งสถานการณ์ของโควิดใน ปีนี้นั้นก็มีแนวโน้มที่จะอยู่ไปอีกสักระยะจากการ กลายพันธุ์และไม่แสดงอาการ ซึ่งก็จะยิ่งทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,672 หน้า 16 วันที่ 22 - 24 เมษายน 2564