โควิด-19 กระทบเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาสแรกปี 64 เผยผู้ประกอบการวอนภาครัฐเร่งขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้ชัดเจน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน กระตุ้นการลงทุน
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลในไตรมาส 1 ปี 2564 นั้นอยู่ในภาวะทรงตัว เกิดการแข่งขันในรูปแบบใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย ที่ผ่านมาประเทศไทยเองก็พยายามจะสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ โรโบติกส์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล โดยจะเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านมีการแข่งขันค่อนข้างสูงในการช่วงชิงลูกค้าและการลงทุนซึ่งเป็นตัวชี้วัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ในสถานการณ์ของโควิด-19 ภาคธุรกิจและประชาชนต่างชะลอการซื้อสินค้า-บริการดิจิทัล เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ผู้ประกอบการดิจิทัลได้มีการเสนอภาครัฐให้เร่งดำเนินนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้ชัดเจน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Sentiment Index) ไตรมาส 1 ประจำปี 2564 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 46.4 จาก 49.9 ของไตรมาส 4 ปีก่อนดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ทรงตัวเป็นผลมาจากการที่ภาคธุรกิจและประชาชนชะลอคำสั่งซื้อและลดปริมาณการซื้อสินค้าและบริการดิจิทัล แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลาดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลาย แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ
อย่างไรก็ตามหากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะเห็นว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 คือ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 50.6 ซึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการล็อกดาวน์จากปีที่ผ่านมา ทำให้กิจกรรมทางกายภาพปรับสู่ช่องทางออนไลน์ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ไปสู่การใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคเนื้อหาดิจิทัล การค้า และการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ประกอบกับแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงมาตร การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยพยุงกำลังซื้อโดย ภาพรวมไว้ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นตํ่ากว่า 50 คือ กลุ่มอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 46.4 กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 46.1 กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 45.8 กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 42.9 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ตัวเลขผลประกอบการและยอดคำสั่งซื้อลดลง
สำหรับมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 นั้นดีป้าพยายามจะช่วยเหลือส่ง เสริมให้เกิดการใช้งานในอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์หรือบริการดิจิทัลที่เป็นของคนไทย ผลักดันอุตสาหกรรมหรือบริการเข้าสู่ตลาดภาครัฐ ซึ่งมาตรฐานในการแข่งขันระดับโลกต้องสร้างโพสิชันนิ่งการขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมอย่าง จริงจัง ดีป้าได้มีการพูดคุยกับทางเอกชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือและการร่วมลงทุนหรือแม้แต่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหรือการทรานส์ฟอร์มเทคโนโลยี การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาในอนาคต ความพร้อมด้านกำลังคน รวมทั้งการเดินหน้ารับรองมาตรฐาน ISO ในกระบวนการผลิตและกระบวนการออกแบบพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่อยู่ระหว่างการเจรจา
“ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐดำเนินนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดความชัดเจน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ทั้งเรื่องของการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย การปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อธุรกิจดิจิทัล และการดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการเสริมความสามารถทางการแข่งขัน ผ่านมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และการสนับสนุนโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐ เพื่อการขยายตลาดให้กับธุรกิจดิจิทัล”
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,674 หน้า 16 วันที่ 29 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2564